เริ่มแล้ว!! ดวงอาทิตย์เข้าสู่ช่วง Solar Maximum ตั้งแต่กลางปี 2024 เป็นต้นไป จนถึง 2033 เป็นปัจจัยหลักเกิดพายุสุริยะบ่อยรุนแรง ไม่กระทบโลกแถมได้ชมความงดงามของ แสงเหนือ-แสงใต้ ที่สุดจะคาดเดาทั้งรูปแบบและสีสัน บริเวณขั้วโลกเหนือ-ขั้วโลกใต้ แต่อาจเป็นมหันตภัยสำหรับดาวเทียม นักบินอวกาศ!!
เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยแพร่ภาพดวงอาทิตย์ และจุดที่สังเกตเห็นบนดวงอาทิตย์ และพวยแก๊สอย่างชัดเจน พร้อมระบุว่า เป็นภาพดวงอาทิตย์เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2567 เมื่อเวลา 11.45 น. โดยถ่ายภาพดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์ ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.ขอนแก่น
โดยระบุว่า ปี 2024 เป็นปีที่ดวงอาทิตย์เข้าสู่ช่วง Solar Maximum เป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานมากที่สุดในรอบ 11-12 ปี จนทำให้นึกถึงภาพยนตร์ ฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวู้ด “อาร์มาเก็ดดอน วันโลกาวินาศ” เมื่อปี ค.ศ. 1998 ที่แสดงนำโดย บรูซ วิลลิส (ต้องไปตามหาชม)
ปรากฎการณ์ Solar Maximum บนดวงอาทิตย์เริ่มต้นกลางปี 2024
1. จะสังเกตเห็นจุดบนดวงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น
2. จะเกิดพายุสุริยะบ่อยและรุนแรงมากขึ้น
3. แต่สนามแม่เหล็กโลกปกป้องเราจากพายุสุริยะได้เป็นอย่างดี จึงแทบไม่ได้รับผลกระทบ
4. มีโอกาสเห็นแสงออโรราได้มากขึ้นในช่วงนี้
ดวงอาทิตย์มีการปลดปล่อยพลังงานที่แตกต่างกันในแต่ละช่วง บางช่วงมีการปลดปล่อยพลังงานมาก และบางช่วงมีการปลดปล่อยพลังงานที่น้อย เกิดเป็นวัฏจักรที่มีคาบประมาณ 11-12 ปี เรียกว่า “วัฏจักรสุริยะ (Solar Cycle)” หมายถึง วัฏจักรที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ ส่งผลให้แต่ละช่วงดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานแตกต่างกัน
Solar Maximum : เป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานมากที่สุด จะมี sunspot บนพื้นผิวมากที่สุด
- คาดการณ์ว่า ดวงอาทิตย์จะเข้าสู่ช่วง Solar Maximum ช่วงกลางปีนี้
- ดวงอาทิตย์จะมี sunspot เพิ่มมากขึ้น
- ช่วงพีคของ Solar Maximum ในรอบนี้คาดว่าจะกินเวลาไปจนถึงปลายปี 2025
- ก่อนจำนวน sunspot จะค่อย ๆ ลดลง น้อยลงที่สุดในช่วงปี 2033
ดวงอาทิตย์ปล่อยพลังงานไม่กระทบโลก
- สำหรับช่วงที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานออกมามาก แต่จะไม่ส่งผลอันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์โลก เนื่องจากสนามแม่เหล็กและชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นของโลก จะสามารถป้องกันอนุภาคและรังสีพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์เอาไว้ได้
- แต่ดาวเทียมที่โคจรอยู่นอกโลก อาจเกิดความเสียหายต่อระบบวงจรไฟฟ้าได้ รวมถึงนักบินอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจอยู่นอกโลก อาจได้รับปริมาณรังสีและอนุภาคพลังงานสูงเพิ่มมากขึ้น
หนึ่งในปรากฎการณ์ แสงออโรรา แสงเหนือ-แสงใต้
จากปรากฎการณ์ Solar Maximum เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการออกตามล่าแสงออโรรา เมื่ออนุภาคที่มีประจุจากดวงอาทิตย์เดินทางมาถึงโลก สนามแม่เหล็กโลกจะเบี่ยงทิศทางของอนุภาคเหล่านี้ให้พุ่งไปยังบริเวณขั้วทั้ง 2 ด้านของสนามแม่เหล็กโลก จากนั้นจะปะทะเข้ากับแก๊สในชั้นบรรยากาศโลก แล้วเกิดการปลดปล่อยแสงสว่างออกมาเป็นสีสันต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับชนิดของแก๊ส โดยบริเวณขั้วของสนามแม่เหล็กโลกจะอยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือ (Aurora borealis) และขั้วโลกใต้ (Aurora australis) ทำให้แสงสว่างที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนี้ พบได้เฉพาะพื้นที่ใกล้ขั้วโลกเท่านั้น เป็นที่มาของแสงออโรรา หรือ “แสงเหนือ-แสงใต้”
Solar Minimum : เป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานน้อย (เงียบสงบ) และแทบจะไม่มี sunspot บนพื้นผิวเลย
ขอบคุณข้อมูล-ภาพ : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ