ชวนแก้ไขวิกฤตปัญหา “ล่วงละเมิดทางเพศเด็กไทย” ถูกจุด เวที Child Protection Summit, Bangkok 2024 แนะแก้กฎหมายเท่าทันพฤติกรรม-เทคโนโลยี! ติด Digital Literacy ให้ทุกคน
ประเทศไทยมีกฎหมายเอาผิดเรื่องสื่อลามกอนาจารเด็ก หรือพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 24) เรื่องความผิดเกี่ยวกับเพศ ซึ่งมีการแก้ไขคำนิยามโดยเพิ่มคำว่า “สื่อลามกอนาจารเด็ก” เข้ามาเป็นครั้งแรก และเพิ่มอีก 2 มาตรา คือ มาตรา 287/1 และมาตรา 287/2 เป็นความผิดฐานครอบครอง ผลิตและจำหน่ายสื่อลามกเด็ก ตั้งแต่ปี 2558 แต่การเดินหน้าแก้ไขวิกฤตปัญหาล่วงละเมิดทางเพศเด็กในประเทศไทย ที่ดูเหมือนรุดหน้าและมีประสิทธิภาพหลังมีกฎหมายคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม ทว่า ความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ฝ่ายปฏิบัติงานโดยการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงกลุ่มนักวิชาการจากภาครัฐ ภาคเอกชน และ NGO ที่ทำงานเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิเด็กทั้งระดับประเทศและนานาชาติ ได้เสนอจุดสังเกตที่น่าสนใจพร้อมแนะแนวทางเพื่อให้การร่วมมือแก้ไขปัญหาที่ละเอียดอ่อน ซับซ้อน และผูกพันการทำงานกับหลายกระทรวงจากการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อเกิดผลช่วยปกป้องเด็กไทยจากอาชญากรรมได้จริง
จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสายด่วนอินเทอร์เน็ตไทยฮอตไลน์กับฮอตไลน์สากลอินโฮป 54 แห่ง ครอบคลุม 50 กว่าประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศไทยมีจำนวนเคสการละเมิดมากขึ้นทุกปี แต่ละปีได้รับรายงานการแจ้งมากกว่า 10,000 URL และแต่ละ URL ไม่ได้มีเหยื่อเด็กแค่ 1 คน หรือภาพอนาจารแค่ 1 ภาพ แต่อาจเป็น 100 เป็น 1,000 ภาพ อายุเด็กที่ถูกละเมิดจากช่วงชั้นมัธยมกลับลดลงเป็น 3-13 ปี ซึ่งมีมากถึง 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ แม้แต่เด็กที่อายุ 0-2 ขวบก็มีถึง 2% เหล่านี้คือสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะจากการสำรวจเด็กกลุ่มตัวอย่าง 30,000 กว่าคนในปี 2565 ประมาณ 81% มีมือถือเป็นของตัวเอง ในจำนวนนี้แอคทีฟบนสื่อโซเชียลมีเดียถึง 85% ซึ่งเพิ่มโอกาสให้เด็กเสี่ยงภัยออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 40% อีกประการที่น่าห่วงคือค่านิยมการสร้างคอนเทนต์ปลดเปลือยจากตัวเด็กเอง ถ่ายกันเองแล้วก็ชวนกันแชร์ขึ้นไปบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งกลุ่มผู้ร้ายมักจะเก็บภาพเหล่านี้ไปรวบรวมและใช้ข่มขู่เแบล็คเมล์เด็ก เป็นต้น
เด็กและเยาวชนที่อยู่ในสถานรองรับประเภทต่าง ๆ คือกลุ่มเปราะบางหนึ่ง ที่ถูกละเมิดทางเพศได้ง่ายและไม่มีใครคาดคิด จากตัวเลขประมาณการมีเด็กเสี่ยงอยู่ในสถานการณ์นี้อย่างน้อย 120,000 คนทั่วประเทศ อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐ 30 กว่าแห่ง ของเอกชน 700 กว่าแห่งทั่วประเทศ ในศาสนสถานของทุกศาสนา ในสถานพินิจ โรงเรียนประจำ โรงเรียนประจำศาสนาอีกหลายพันแห่งทั่วประเทศ ซึ่งแค่ในสถานสงเคราะห์เอกชนที่มีจำนวนเด็กในการดูแลเฉลี่ย 58 คนต่อแห่ง แต่มีผู้ดูแลเพียง 2 คน จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กจะให้การดูแลเหมือนที่ทุกท่านดูแลลูกอยู่ที่บ้าน และการไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เช่น กฎหมายจดทะเบียนขอรับใบอนุญาตดำเนินการสถานสงเคราะห์ ทำให้สถานสงเคราะห์ส่วนมากในประเทศไทยผิดกฎหมายอยู่อย่างน้อย 70% ยังมีงานวิจัยชี้ชัดว่าสถานสงเคราะห์เด็กในประเทศไทยมีจำนวนมากเกินพอแล้ว ควรผลักดันให้เด็กและเยาวชนกลับไปอยู่กับครอบครัวซึ่งเป็นหนทางที่ดีที่สุด
คดีที่ DSI เข้าไปตรวจค้นจับกุม 90% ขึ้นไป ผู้กระทำผิดจะมีภาพลามกอนาจารเด็กอยู่ในความครอบครองและพัฒนาไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ ในอดีตการจับกุมผู้กระทำผิด 1 คน DSI จะพบการการละเมิดทางเพศต่อเด็ก 1-2 คน แต่เมื่อเริ่มสืบจากภาพลามกอนาจารที่ปรากฏในออนไลน์ตามอำนาจทางกฎหมายโดยไม่ต้องรอการให้ปากคำจากเด็ก ซึ่งบางคนกว่าจะพร้อมพูดคุยกับเจ้าหน้าที่เวลาก็ล่วงไป 10-20 ปี ปัจจุบันผู้กระทำผิด 1 คน สามารถแชร์ภาพละเมิดทางเพศเด็กได้หลายแสนภาพ
เมื่อพูดถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ เช่น ถูกข่มขืนหรือกระทำชำเราต่อเด็กและเยาวชน หลายคนอาจไม่กังวลเพราะเห็นว่าบ้านเมืองมีกฎหมายบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว แต่หากพิจารณาเครื่องมือจัดการปัญหาดังกล่าวอีกครั้ง จะพบว่าการตีความของกฎหมายที่คุ้มครองเรื่องการละเมิดเด็ก จะเป็นในลักษณะการกระทำต่อเนื้อตัวร่างกายแล้วเท่านั้น ซึ่งประเทศไทยไม่มีกฎหมายรองรับในพฤติกรรมการพูดคุยเรื่องทางเพศที่ไม่เหมาะสม (Sexting) การชักจูงใจหรือล่อลวงให้กระทำเรื่องไม่สมควรทางเพศออนไลน์ (Grooming) และการข่มขู่เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ในเรื่องทางเพศ (Sextortion) ซึ่งเป็นความต่างด้านกฎหมายที่ประเทศไทยไม่มี ในเวทีอาเซียนมี 4-5 ประเทศ ที่มีกฎหมายคุ้มครองด้าน Sexting แล้ว แต่ไทยไม่ใช่หนึ่งในนั้น และการ Grooming คือพฤติกรรมเตรียมเด็กให้พร้อมเป็นเหยื่อ.