คนรักสุนัขเตรียมปักหมุดรอ บริหารทรัพย์-ฝึกชูป้าย ก่อนงานประมูลสุนัขทหาร ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ 66 ตัวใน 3 สายพันธุ์ รอบใหม่ 6 ก.ค.นี้ ขอให้เลือกด้วยความรักและเอ็นดู รอบนี้จะทุบสถิติเดิมหรือไม่ พร้อมมีเคล็ดลับเจ๋ง ๆ มาฝาก ก่อนจูงน้องกลับบ้าน!!
เรื่องสุนัข ๆ แต่ไม่ใช่สุนัข (ขี้เรื้อนนะ) แม้จะเพิ่งเปิดประมูลไปเมื่อต้นปี 67 แต่ก็ได้เวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง คงเนิ่นนานสำหรับคนที่รอคอยการประมูล สุนัขทหาร สุดเจ๋ง… แต่บอกเลยไม่ผิดหวังกับนิสัยใจคอ และที่สำคัญแสนรู้มว๊ากกก แม้จะไม่ผ่านบททดสอบในสนามสุนัขทหาร TOPPIC Time จึงขอนำมาอัพเดตกันหน่อย กับงานเปิดประมูลรอบใหม่ ครั้งนี้บอกก่อนว่าพลาดยาก เพราะศูนย์ฯนำมาเปิดประมูลเป็นกองร้อย (สุนัข) ถึง 66 ตัว ถูกใจน้อง ๆ ตัวไหนก็พากลับไปเลี้ยงดูปูเสื่อได้เลย
ปักหมุดรอ 6 ก.ค.ประมูลสุนัขทหารรอบใหม่
ศูนย์การสุนัขทหาร กรมการสัตว์ทหารบก จัดประมูลสุนัขทหารที่ไม่ผ่านเกณฑ์การทดสอบของ ทบ. จัดขึ้นที่ ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา วันที่ 6 ก.ค.ตั้งแต่เวลา 08.00 น. งานนี้มีทั้งสิ้น 66 ตัว
สุนัขทหาร ที่นำมาประมูล ยังเป็น 3 สายพันธุ์เดิม คือ
- ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์
- เบลเยียม มาลินอยส์
- เยอรมันเชพเพิร์ด
‘ลีแอน’ สุนัขทหารพันธุ์ลาบราดอร์ฯ ประมูลสูงสุด 9.5 หมื่น
การประมูลรอบก่อน (27 ม.ค. 2567) มีการประมูล สุนัขทหาร 54 ตัว แบ่งเป็น ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ 6 ตัว เยอรมันเชพเพิร์ด 28 ตัว และเบลเยียม มาลีนอยส์ 20 ตัว ราคาประมูลเริ่มต้นที่ 1,500-2,000 บาท ยกประมูลครั้งละ 100 บาท
“ลีแอน” สุนัขทหารพันธฺุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ หมายเลข 34 อายุ 2 ปี 10 เดือน เป็นตัวที่ได้รับความสนใจมากที่สุด และราคาประมูลสูงที่สุดคือ 95,000 บาท
เอกสารที่ใช้ในการประมูลสุนัขทหาร
กรณีบุคคลธรรมดา : สำเนาบัตรประชาชน, ภาพถ่ายสถานที่ที่จะนำสุนัขไปเลี้ยงดู
กรณีนิติบุคคล : สำเนาหนังสือบริคณห์สนธิ หรือหนังสือรับรองจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท, ภาพถ่ายสถานที่ที่จะนำสุนัขไปเลี้ยงดู
โดยศูนย์การสุนัขทหารจะนำรายได้จากการประมูลไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนากิจการสุนัขทหาร
เคล็ดลับการเลือกสุนัขมาเลี้ยง (สุนัขทหาร)
1. เลี้ยงสุนัข (สุนัขทหาร) เพื่ออะไร? เพื่อคลายเหงา เป็นเพื่อนเล่น หรือเลี้ยงเพื่อเฝ้าบ้าน เพื่อเลือกสายพันธุ์ให้เหมาะกับสิ่งที่ต้องการ
2. มีความพร้อมที่จะเลี้ยงน้องหรือไม่ (สุนัขทหาร) หากดูแลน้อง ประมาณ 10-20 ปี (เลี้ยงแล้ว เลี้ยงให้ตลอด)
3. เรื่องค่าใช้จ่าย ค่ารักษาพยาบาลสัตว์ ค่าอุปกรณ์การเลี้ยง ค่าอาหาร แต่ละสายพันธุ์ มีความต้องการขนาดของพื้นที่แตกต่างกัน
4. การจะเลี้ยงสุนัขพันธุ์ไหน (สุนัขทหาร) ต้องศึกษาให้มีความรู้
5. สำหรับมือใหม่ ควรศึกษาโรคประจำพันธุ์ เพื่อความไม่ประมาท
การที่จะรับสุนัขสักตัวเข้ามาเลี้ยงในชีวิต นับเป็นความรับผิดชอบที่ใหญ่ต้องมี 4 ข้อคือ เวลา เงิน พื้นที่ และศึกษาเกี่ยวกับสายพันธุ์…เมื่อให้ใจเค้าไป ก็ต้องได้ใจน้องกลับเช่นกัน บอกเลยว่า “สุนัขรักจริง ซื่อสัตย์จริง จนชั่วชีวิตของน้อง “รักสัตว์ อย่าทิ้งสัตว์”
ขอฝากทริคเลือกส่งท้าย ก่อนร่วมงานประมูล สุนัขทหาร “การประสานสายตาระหว่างเรา กับ น้อง(สุนัข) เป็นญาณสัมผัสระหว่างกัน ที่จะรู้ได้ทันทีว่า “ใช่” สิ่งที่จะเติมเต็มระหว่างกันหรือไม่…ก่อนจูงน้องกลับบ้าน!!
ขอบคุณข้อมูล – ภาพ : ศูนย์การสุนัขทหาร กรมการสัตว์ทหารบก