“ปลาหมอคางดำ” นับว่าเป็นมหันตภัยในระบบนิเวศ ปลานักล่าแห่งลุ่มแม่น้ำแอฟริกา เดินทางสู่ไทยแลนด์ด้วยบริษัทหนึ่ง ด้านกรมประมงประกาศสั่งตาย ขจัดให้สิ้นซาก ปล่อยปลาคางดำหมันตัดวงจร พร้อมตั้งโต๊ะรับซื้อทุกจังหวัด ด้วยค่าหัว 15 บาท/กก. สู่เมนูเด็ดรสชาติน้องๆ เชลล์ชวนชิม ของหวานยันของคาว…
“ปลาหมอคางดำ“ จากปลานักล่า สู่ปลาถูกล่า เมื่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงประกาศจับตาย พร้อมตั้งราคาค่าหัว จากเดิม 20 บาท/กก. ล่าสุดขอราคามิตรภาพ 15 บาท/กก. ประสานจังหวัดตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำภายในสัปดาห์หน้า แบบ Kick off กันจนกว่าปลาหมอคางดำจะหมดเกลี้ยงในแม่น้ำ TOPPIC Time ขอนำมาไล่เรียงเล่าสู่กันฟัง เผื่อบางคนอาจจะทำเป็นอาชีพเสริมรายได้ หากไม่ขายก็นำมาทำเป็นอาหารได้ อิ่มด้วยช่วยชาติด้วย บุญแรง!!
เจอ-แจ้ง-จับ-จบ ‘ปลาหมอคางดำ’
ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ครั้งที่ 2/2567 ของกระทรวงเกษตรฯ ระบุชัด ปลาหมอคางดำ ส่งผลกระทบขยายวงกว้าง จึงมีมติปฏิบัติการแผนมาตรการระยะเร่งด่วน
– กำจัด ปลาหมอคางดำ ในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด
– รับซื้อ ปลาหมอคางดำ ในราคา 15 บาท/กก.
– เบื้องต้นจะใช้เงินจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ระหว่างที่รอของบกลางในการรับซื้อ ปลาหมอคางดำ
– ให้กรมประมงประสานกับจังหวัดเพื่อตั้งจุดรับซื้อ ปลาหมอคางดำ ภายในสัปดาห์หน้า
– ไม่มีการส่งเสริมให้เกษตรกรนำ ปลาหมอคางดำ ไปเลี้ยงอย่างเด็ดขาด ต้องกำจัดเท่านั้น
– โครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ใน ปลาหมอคางดำ เป็นการควบคุมการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ โดยการทำให้ประชากรปลาหมอคางดำเป็นหมัน มีแผนปล่อยพันธุ์ ปลาหมอคางดำ 4n ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทยอยปล่อยอย่างน้อย 250,000 ตัว ภายในระยะเวลา 15 เดือน (ก.ค. 67 – ก.ย. 68) คาดเริ่มปล่อยพันธุ์ปลาได้อย่างช้าสุดเดือน ธ.ค. 67 อย่างน้อยจำนวน 50,000 ตัว
ปลาหมอคางดำ พบแพร่ระบาดใน 16 จังหวัด
จังหวัดที่พบการแพร่ระบาดของ ปลาหมอคางดำ ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กทม.ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา นครศรีธรรมราช สงขลา ตราด และชลบุรี
ทั้งนี้ มีรายงานการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติทุกแห่ง ที่พบการแพร่ระบาด (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 67) กำจัด ปลาหมอคางดำ ได้ทั้งสิ้น 623,370 กิโลกรัม
เปิดเมนูอาหาร จานเด็ดจาก ‘ปลาหมอคางดำ’
กรมประมงได้รังสรรค์ เพื่อแก้ไขปัญหา ปลาหมอคางดำ เปิบ 10 เมนูเด็ด
ปลาเผาเกลือ / ปลาทอดเกลือ / น้ำปลาแท้ / ฉู่ฉี่ / คั่วกลิ้ง / ต้มยำ / น้ำยาขนมจีน /ทอดมัน / แดดเดียว / ขนมปั้นขลิบ
พร้อมย้ำว่า ปลาหมอคางดำ รับประทานได้!! ขณะที่นักวิชาการแนะนำการจัดการกับ ปลาหมอคางดำ ให้สิ้นซากมีทางเดียว คือการทำหมันแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาอยู่ และการสวาปามก็เป็นอีกตัวช่วยที่ได้ผลคือช่วยกันกิน เสิร์ฟปลาหมอคางดำในรูปแบบ ทำปลาร้า หรือทำอาหารสัตว์
ที่มา “ปลาหมอคางดำ” จากต่างประเทศเหินฟ้าสู่ไทย
“ปลาหมอคางดำ” จากประเทศกานา ทวีปแอฟริกา เป็นสัตว์ที่กินสัตว์น้ำขนาดเล็ก ขยายพันธุ์รวดเร็ว อาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย เข้าข่ายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน
ปลาหมอคางดำ เหินฟ้าสู่ประเทศไทย หลังได้รับไฟเขียวให้นำเข้ามาครั้งแรกปี 2553 เพื่อทดลองวิจัยปรับปรุงพันธุ์ปลานิลให้มีความแข็งแรง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ โดยถูกระบุว่า ถูกกำจัดทิ้งทั้งหมด และพบ ปลาหมอคางดำ ในระบบนิเวศครั้งแรกที่ ต.ยี่สาน อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม จนมีการแพร่ขยายผลก่อเรื่องใหญ่ ต้องตั้งค่าหัวไล่ล่าในปัจจุบัน
จนปี 2560 กรมประมง เริ่มเห็นปัญหา จึงประกาศเป็นกฎหมายปี 2561 ห้ามนำเข้าทุกกรณีของ ปลาหมอคางดำ รวมถึงปลาอีกสองชนิดคือ ปลาหมอมายัน และ ปลาหมอบัตเตอร์ ฝ่าฝืนถือเป็นความผิด ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.