เช็กด่วนๆ “ราคาที่ดิน” โซนไหนราคาพุ่งสุด? เผย 5 อันดับราคาที่ดินแพง โดยเฉพาะปริมณฑล อย่าง ปทุมธานี และจังหวัดที่ใกล้กับกรุงเทพฯ เช่น นครปฐม ที่มาเป็นอันดับ 1 ขณะที่โซนในเมือง ราคายังพุ่งไม่หยุด โดยเฉพาะแถวเส้นทางรถไฟฟ้าผ่าน
ดัชนี “ราคาที่ดิน” ใหม่เอี่ยม สดๆ ร้อนๆ TOPPIC Time รีบนำข้อมูล “ราคาที่ดิน” ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2567 ที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) นำมาเปิดเผย โดยชี้ให้เห็นว่า ราคาที่ดิน เพิ่มขึ้นแบบชะลอตัว นั่นคืออันดับแรกที่ต้องดู ก่อนที่จะไปเช็กราคาที่ดินในพื้นที่ต่างๆ
“ราคาที่ดิน” ยังชะลอตัว
– ดัชนี “ราคาที่ดินเปล่า” ก่อนการพัฒนา ในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ไตรมาส 2 ปี 2567 มีค่าดัชนีเท่ากับ 398.2 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ “ราคาที่ดิน” ลดลงร้อยละ -2.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
– การเติบโตของ “ราคาที่ดินเปล่า” ก่อนการพัฒนา ยังคงมีการปรับตัวขึ้น ในทิศทางที่ชะลอตัวลง
– เมื่อเทียบกับอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 ปี ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด ปี 2558-2562 “ราคาที่ดิน” มีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ต่อไตรมาส เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 จากไตรมาสก่อนหน้า
อะไรบ้างมีผลต่อ “ราคาที่ดิน” ?
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ระบุถึงปัจจัยที่มีผลต่อราคาที่ดิน
– อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนภายในประเทศ ที่ฟื้นตัวช้าในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลต่อ “ราคาที่ดิน”
– ปัจจัยลบที่สำคัญที่เกี่ยวกับการยกเลิกมาตรการผ่อนปรน “Loan to Value : LTV” (อัตราส่วนการให้สินเชื่อโดยเทียบกับมูลค่าหลักประกัน)
– ภาวะหนี้ครัวเรือน ที่สูงเกินกว่าร้อยละ 90 ของ GDP
– ภาวะดอกเบี้ยนโยบาย ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 2.50
– สถาบันการเงินได้พิจารณาสินเชื่อด้วยเกณฑ์ที่เข้มงวดมาก ส่งผลต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย และการขอสินเชื่อของผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ฉุดราคาที่ดินลง
นักเก็งกำไรอสังหา ไม่มีต้นทุนถือครองที่ดินเช่นในอดีต
– ภาคอสังหาริมทรัพย์เกิดการชะลอตัวมากในช่วงที่ผ่านมา อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการ มีความต้องการซื้อที่ดินเพื่อสะสมลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องมีต้นทุนการถือครองที่ดิน จากการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยในปี 2567 รัฐไม่มีมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งกระทบต่อ ราคาที่ดิน
– อีกทั้งผู้ประกอบการบางส่วน ได้ขยายตลาดออกไปยังจังหวัดหลักในภูมิภาคอื่น จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้อุปสงค์ของที่ดินในพื้นที่กรุงเทพฯ – ปริมณฑลโดยรวม เกิดการชะลอตัวลงด้วย
เปิด 5 อันดับ โซน “ราคาที่ดิน” แพง ไตรมาส 2 ปี 2567
สำหรับโซนที่มีอัตราการขยายตัวของ “ราคาที่ดิน” เพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรก เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
อันดับ 1 ที่ดินโซน “นครปฐม” ที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของ “ราคาที่ดิน” สูงขึ้นร้อยละ 82.1
อันดับ 2 ที่ดินในโซน “กรุงเทพชั้นใน” ประกอบด้วยเขตจตุจักร ห้วยขวาง ยานนาวา วัฒนา คลองเตย พญาไท บางคอแหลม ป้อมปราบศัตรูพ่าย บางซื่อ ดินแดง ราชเทวี และบางรัก โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟฟ้า ที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของ ราคาที่ดิน สูงขึ้นร้อยละ 17.8
อันดับ 3 ที่ดินในโซน “สมุทรสาคร” ที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินสูงขึ้นร้อยละ 13.4
อันดับ 4 ที่ดินในโซนตลิ่งชัน-บางแค-ภาษีเจริญ-หนองแขม-ทวีวัฒนา-ธนบุรี-คลองสาน-บางพลัด-บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ ที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของ “ราคาที่ดิน” สูงขึ้นร้อยละ 13.3
อันดับ 5 ที่ดินเมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก ที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินสูงขึ้นร้อยละ 12.6