“โค้ดดี้ เสือร้องไห้” ควง “หม่าม้าเดือนเพ็ญ เกษียณสำราญ” ตัวแทน วัยรุ่น-วัยเก๋า ชวนลดช่องว่างระหว่างวัยในครอบครัว กับโครงการ “2 วัย หัวใจสร้างสาน” ปลุกกระแสสร้างคอนเทนต์ต่าง Gen
ดีต่อใจ! มูลนิธิฟอร์เวิร์ด ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการ “2 วัย หัวใจสร้างสาน” สร้างเทรนด์ใหม่รันวงการ TikTok กับกิจกรรมเวิร์กชอป ภายในครอบครัวของผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน นำไปสู่การลดช่องว่าง ลดอคติของคนต่างวัย โดยมีการจัดอบรมออนไลน์ 4 ครั้ง กิจกรรมออนไซต์ 1 ครั้ง ในระยะเวลา 2 เดือน มีอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง ตัวแทน 2 GEN วัยรุ่น-วัยเก๋า “โค้ดดี้ เสือร้องไห้” หรือ “อรรถพล โพธิ์หาญรัตนกุล” จากช่อง YouTube เสือร้องไห้ และ หม่าม้าเดือนเพ็ญ พรหมพระศร จากช่อง YouTube เกษียณสำราญ
พร้อมด้วย ป้าเนาว์ เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ นักแสดงมากฝีมือ มาร่วมเป็นวิทยากรพิเศษ และ มี คุณแสงระวี จงศิริกุล ประธานมูลนิธิฟอร์เวิร์ด, คุณภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ, คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) มาร่วมเป็นประธานในพิธี ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันก่อน
โดยโครงการ “2 วัย หัวใจสร้างสาน” จัดขึ้นเพื่อปลุกกระแสการสร้างคอนเทนต์ ร่วมกันออกแบบพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุด้วยการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ให้คน 2 วัยในครอบครัว ทำกิจกรรมผลิตคลิปสั้นถ่ายทอดเรื่องราว ต่าง Gen ไม่ต่างใจ เติมรัก ลดช่องว่าง เช่น สื่อสารสร้างความเข้าใจทำความรู้จักกันมากขึ้น แลกเปลี่ยนกิจกรรมหรือแบ่งปันงานอดิเรกที่ทำให้หัวใจใกล้กัน ปั้นอินฟลูเอนเซอร์รุ่นเก๋าเพิ่มคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์
งานนี้ “โค้ดดี้ เสือร้องไห้” และ หม่าม้าเดือนเพ็ญ เกษียณสำราญ ก็ได้ร่วมบอกเล่าความประทับใจของการมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ว่า … “ผมกับคุณแม่เป็นคน 2 วัย ที่มีหัวใจผูกกัน ด้วยความสนิทของเราที่มีอะไรก็สามารถแชร์หรือแบ่งปันกันได้ตั้งแต่เด็กจนโต จนผมมีครอบครัว และได้ชวนหม่าม้ามาทำรายการร่วมกัน แรกเริ่มไม่อยากทำ แต่ตอนนี้หม่าม้ากลายเป็นคนคิดคอนเทนต์ลงในช่อง YouTube เกษียณสำราญ ที่หม่าม้าอยากนำเสนอเรื่องราวอีกหนึ่งมุมมองที่ท่านมองเห็น
และเมื่อพูดถึง โครงการ “2 วัย หัวใจสร้างสาน” ที่เชิญชวนให้คนในครอบครัวทั้ง 2 วัย คือ หลาน ๆ ได้มาออกแบบสร้างคอนเทนต์ร่วมกันกับ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ผ่านคลิป ซึ่งเราก็ได้เห็นความสามารถของเด็กยุคนี้ ที่เค้ามีความคิดสร้างสรรค์ หากิจกรรมที่สามารถทำด้วยกันได้ทั้ง 2 วัย อย่างคลิปตัวอย่างที่นำมาเปิดในงานบางส่วน เราจะได้เห็นความหลากหลายมุมมองที่คน 2 วัย ได้ทำร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นคลิปแต่งหน้า ทำผม ทำอาหาร ช่วยกันเลี้ยงสัตว์ หรือหาสิ่งที่จะเชื่อมคน 2 วัย ได้มาทำร่วมกันถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สามารถลดช่องว่างระหว่างคน 2 วัย ที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันได้เป็นอย่างดี”
ด้าน ป้าเนาว์ เนาวรัตน์ กล่าวถึงการมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ว่า … “ดีใจมาก เป็นเกียรติที่สุด ที่ได้มาร่วมโครงการ “2 วัย หัวใจสร้างสาน” เพราะเป็นโครงการดี ๆ ที่สามารถช่วยทำให้ คน 2 วัย มีความเข้าใจและไปด้วยกันได้ถ้าจูนติดกัน ก็จะแฮปปี้มาก ซึ่งคิดว่าจุดสำคัญที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัย คือ ความไม่เข้าใจกัน อยากให้เชื่อมกัน อยากให้หันมารักกัน กอดกัน จะได้ เข้าใจกัน พอหลังจากได้ดูคลิปบางส่วนที่นำมาเปิดในวันนี้ บอกเลยว่า… ซึ้งมาก ได้เห็นถึงความพยายามของหลาน ๆ ที่ชวนคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย มาทำคลิป มาทำกิจกรรมร่วมกัน ดูแล้วมีความสุขมาก ๆ เลยค่ะ ส่วนตัวอยากให้มีโครงการฯนี้ ต่อไปเรื่อย ๆ นะคะ”
โครงการ “2 วัย หัวใจสร้างสาน” มีเป้าหมายส่งเสริมความสัมพันธ์ และลดช่องว่างระหว่างวัยภายในครอบครัว ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายของ สสส. พัฒนาออกแบบกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมทั้ง 50 คู่ ทำกิจกรรมเวิร์กชอป และสร้างสรรค์คลิปสั้นตามภารกิจ 5 รูปแบบ คือ
1.โซเชียลมีเดีย มีใจ : ภารกิจคู่หู ที่ต้องทำร่วมกัน เช่น ทายคำศัพท์ติดปากเด็ก Gen ใหม่ เล่าเรื่องราวเพลงสมัยคุณยาย และสมัยคุณหลานชวนคุณยาย คุณปู่ปรับลุคใหม่
2.ต่างวัยแต่ใจเดียว : เรียนรู้ทฤษฎีความสัมพันธ์ที่นำไปสู่การสร้างความเข้าใจ
3.เซลฟ์แคร์ ดูแลใจ : เรียนรู้แนวทางการรู้เท่าทันและการควบคุมอารมณ์
4.เล่นผ่านละคร : ฝึกออกแบบการสื่อสาร เล่นบทบาทสมมติ ในสถานการณ์ต่าง ๆ
5.Acting for Non-Actors : แบบฝึกหัดทางการแสดง และหลักการทางจิตวิทยาสังคม ในหัวข้อ “ต่างเจน ต่างวัย…ใจเดียวกัน”
โดยคลิปสั้นที่สร้างสรรค์จากผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด สามารถเข้าชมได้ที่ TikTok : Forwardfoundation_TH จำนวน 200 คลิป ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าชมกว่า 500,000 วิว คาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นส่งต่อเนื้อหาการลดช่องว่างระหว่างวัยในสังคมให้เป็นที่รับรู้.