ในหลวง–ราชินี เสด็จฯ เป็นประธานงานกาล่าดินเนอร์เฉลิมพระเกียรติฯ “เบญจกตัญญุตา” ภายใต้โครงการ “สสธวท รวมใจ เทิดเอกลักษณ์แห่งปัญจมังกร จารึกความกตัญญูต่อแผ่นดิน” เฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗
เมื่อเวลา ๑๘.๐๐ น. วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานงานกาล่าดินเนอร์เฉลิมพระเกียรติฯ “เบญจกตัญญุตา” ภายใต้โครงการ “สสธวท รวมใจ เทิดเอกลักษณ์แห่งปัญจมังกร จารึกความกตัญญูต่อแผ่นดิน” เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ โดยมี คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานจัดงานฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการจัดงานฯ ผู้แทนองค์กรภาคีร่วม ได้แก่ สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มูลนิธิเกียรติร่วมมิตรเพื่อการศึกษา และสมาคมสตรีสัมพันธ์ เฝ้าฯ รับเสด็จฯ ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวณั กรุงเทพฯ ถนนราชดำริ
เมื่อเสด็จฯ ถึงภายในงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทอดพระเนตร นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗, นิทรรศการเกี่ยวกับอุปรากรจีนภาคภาษาไทย (งิ้วไทย) ตำนานจีน ๒๔ ยอดกตัญญู ภายใต้เนื้อหา ๒๔ บทเรียนแสดงถึงเรื่องคุณธรรม จริยธรรม สอนให้เข้าใจถึงธรรมชาติในการใช้ชีวิตอย่างถูกต้องถือเป็นหลักสากล โดยเฉพาะวัฒนธรรมวิถีชีวิตของสังคมจีนโดยวัฒนธรรมสังคม เชิงพระพุทธศาสนา แบ่งบุญคุณของผู้มีอุปการะเป็น ๕ ประเภท คือ อุปัตติคุณบุญคุณที่ให้กำเนิดชีวิตและร่างกาย อุปถัมภคุณ บุญคุณที่เลี้ยงดูให้ข้าวให้น้ำให้ที่อยู่ อารักขคุณ บุญคุณที่เฝ้าปกป้องรักษาไม่ให้เกิดอันตราย สาสคุณ บุญคุณที่ให้การสั่งสอนให้ความรู้เกิดความสมัครสมานสามัคคี ปิยคุณบุญคุณที่ให้ความรักความเมตตา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แล้วทอดพระเนตรนิทรรศการขององค์กรภาคีที่ร่วมกิจกรรม จากนั้นพระราชทานวโรกาสในคณะกรรมการจัดงาน เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร และของที่ระลึกตามลำดับ
เวลาต่อมา คุณหญิงณัฐิกา กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ว่า เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ มีการกล่าว อาเศียรวาทราชสดุดีเทิดพระเกียรติ โดย คณะกรรมการภาคีเครือข่ายองค์กรและคณะกรรมการจัดงาน ขณะเดียวกัน เพื่อต่อเนื่องจากวัตถุประสงค์เมื่อครั้งสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ปี ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๕ จึงนำตำนาน “๒๔ ยอดกตัญญูของจีน” ซึ่งยกย่องเชิดชูความกตัญญู ซึ่งทั่วโลกเล่าขานมาทุกยุคจัดแสดงอุปรากรจีนภาคภาษาไทย (งิ้วไทย) สร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความคิดให้มวลชนทุกภาคส่วนให้ความสำคัญเรื่องความกตัญญูกตเวที อันเป็นคุณธรรมที่แสดงถึงอารยธรรมของประเทศ น้อมนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง
อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญ เพื่อจารึกไว้เป็นสัญลักษณ์แห่งความกตัญญูกตเวทิตา ต่อสมเด็จพระบูรพมหากษัตริ ยาธิราช แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ คือการรวมใจกันสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ จำนวน ๒ จุด ได้แก่ จุดที่ ๑ บนถนนเจริญกรุงช่วงบริเวณศาลาเฉลิมกรุงลงมาถึงบริเวณสะพานดำรงสถิต และจุดที่ ๒ บริเวณห้าแยกหมอมี ภายใต้ ๕ แนวคิดหลัก ดังนี้ พระมหากษัตริย์ทรงได้รับการสดุดีเป็นมังกรแห่งมวลมนุษย์, นักษัตรประจำปีพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ เป็นนักษัตรปีมังกร ตามสุริยคติ, วัดเล่งเน่ยยี่ หรือ มังกรกมลาวาส เป็นหนึ่งในศูนย์รวมใจพุทธศาสนิกชน ท้ายสุด “ถนนเจริญกรุง” ได้ชื่อว่า “ถนนสายมังกร” โดยจะนำรายได้ จากการจัดงานกาล่าดินเนอร์ฯ ส่วนหนึ่ง ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระราชทานเป็นทุนประเดิมในการจัดสร้างถาวรวัตถุเฉลิมพระเกียรติฯ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความกตัญญูต่อสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ต่อไป
จากนั้น คุณหญิงณัฐิกา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต กราบบังคมทูลเบิกผู้ให้การสนับสนุนการจัดงานฯ เข้ารับพระราชทานของที่ระลึก แล้วร่วมกันกราบบังคมทูลถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการแสดงอุปรากรจีนชุด ๒๔ ยอดกตัญญู แบ่งเป็น ๒ ช่วง ได้แก่ การแสดงที่ ๑ ประกอบด้วย ๘ เซียนถวายพระพรและการแสดงอุปรากรจีนภาคภาษาไทย (งิ้วไทย) เรื่องกตัญญูเหนือยศศักดิ์..ฮ่องเต้ฮั่นเหวินตี้ชิมพระโอสถ การแสดงช่วงที่๒ เป็นการแสดงอุปรากรจีนภาคภาษาไทย (งิ้วไทย) เรื่อง ฮัวมู่หลาน..ออกศึกแทนบิดา
ภายหลังจบการแสดง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสวยพระกระยาหารค่ำ โดยมีการแสดงขับร้องบทเพลงจากนักร้องกิตติมศักดิ์ จากนั้นพระราชทานวโรกาสให้นักแสดง เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานช่อดอกไม้ พร้อมกับพระราชทานวโรกาสให้คณะกรรมการจัดงานฯ ผู้ให้การสนับสนุนการจัดงานฯ ตลอดจนคณะผู้แสดงอุปรากรจีนกิตติมศักดิ์ ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับพระองค์ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
สำหรับการจัดงานครั้งนี้ คุณหญิงณัฐิกา เผยว่า งานในค่ำคืนนี้จัดเพื่อเทิดพระเกียรติ เนื่องในโอกาส ๗๒ พรรษา โดยไฮไลท์เรื่องความกตัญญูเป็นสำคัญ สืบเนื่องจากเมื่อครั้งสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ในปี ๒๕๒๕ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ดำรงพระราชอิสริยยศที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกฎุราชกุมาร ในขณะนั้น) เสด็จฯ ไปทรงเป็นองค์ประธานในพิธีถวายราชสักการะสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ณ พลับพลาพิธี บริเวณวงเวียนโอเดียนเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ที่ นายเกียรติ–นางจรรย์สมร วัธนเวคิน ประธานมูลนิธิเกียรติร่วมมิตรเพื่อการศึกษา ได้รวมพลังคนไทยเชื้อสายจีนจากทั่วประเทศจัดโครงการ “พระบรมโพธิสมภารร่มเย็นเป็นสุข” เป็นการแสดงความกตัญญูต่อแผ่นดินสยาม ที่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารแห่งบูรพมหากษัตริยาธิราช และในวันนั้นพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่เข้าเฝ้าทลูละอองธุลีพระบาทอย่างใกล้ชิด ชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนต่างสำนึกในพรมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ จนมาถึงโอกาสมหามงคลยิ่งในปีนี้ คณะกรรมการจัดงาน และองค์กรภาคีทุกภาคส่วน ขอแสดงความจงรักภักดี และขอถวายราชสดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ยอดกตัญญู
บรรยากาศภายในห้องแกรนด์บอลรูมคับคั่งไปด้วยผู้ร่วมงานกว่า ๕๐๐ คน ล้วนแล้วแต่เป็นแขกที่ได้รับเชิญ ทั้งสมาชิกองค์กรเครือข่ายจากหลากหลายวงการ ทูตานุทูตแขกต่างประเทศ ผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นายกองค์กรสมาชิกทั่วประเทศ พร้อมใจกันแต่งกายด้วยชุดผ้าไทยสีเหลืองอย่างพร้อมเพรียง เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ การจัดงานในครั้งนี้ เป็นไปอย่างงดงาม สมพระเกียรติ และประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้.