คนกรุงที่ผ่านช่วงวิกฤต “น้ำท่วมกรุงเทพ” เมื่อปี 2554 คงจดจำเหตุการณ์ครั้งนั้นแบบไม่มีวันลืม ภาพที่ชัดคือ…ความสูญเสีย พลัดพราก กระทั่งไร้ที่อาศัย กับคำว่า “เอาอยู่” (รัฐบาลสมัยนั้นพูดไว้…) TOPPIC Time ไม่ต้องการนำมารื้อฟื้น แต่กระแสความกังวัลเรื่องนี้กลับมาแรงอีกครั้ง กลับเสียงพร่ำๆ ที่ว่า “รับรองน้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ แน่นอน ไม่เหมือนปี 54 ไม่ต้องห่วง …” แต่อดีตสอนให้รู้ว่าเชื่อได้แค่ไหน!! ส่วนปี 67 นี้ น้ำท่วมกรุงเทพหรือไม่ ต้องไปฟังผู้รอบรู้ ที่วิเคราะห์จากปัจจัยและข้อเท็จจริง..
แนะระดมสรรพกำลังร่วมคิดร่วมทำ ป้องกันความไม่แน่นอน (น้ำท่วมกรุงเทพ)
ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้ว่า #60วันอันตราย
#การจัดการภาวะวิกฤติและสื่อสารความเสี่ยงควรทำอย่างไร ?
– ความเสียหาย ความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินจากเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพ(ใหญ่) สำหรับประเทศไทยในอดีตมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 10,000-1,000,000 ล้านบาท โดยเฉพาะการเสียชีวิตซึ่งประเมินมูลค่าไม่ได้
– การบริหารวิกฤติจึงมีความสำคัญสูงสุด การสื่อสารความเสี่ยงในภาวะวิกฤติต้องมีความเข้าใจ และสามารถถ่ายทอดให้ประชาชนที่กำลังวิตก กังวล และห่วงใยต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้น
– หลายหน่วยงานที่ออกมาให้ข้อมูลต้องชัดเจน ไม่ยืดเยื้อ ไม่เทคนิคมาก ทำให้เข้าใจยากจนขาดความน่าสนใจ
– 60 วันจากนี้ต่อไป จึงเป็นสถานการณ์สุ่มเสี่ยงที่ไม่เพียงการบอกความจริงกับประชาชน แต่ต้องไม่ใช่เพียงคำว่า “เอาอยู่” หรือไม่ท่วมเหมือนปี 2554
– สถานการณ์น้ำที่กำลังท่วมพื้นที่ภาคเหนือ และที่อื่นๆ เริ่มสับสน วุ่นวาย เช่น กรณีคันกั้นน้ำแตกหลายจุด มีผู้เสียชีวิต น้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ คล้ายๆ กับเหตุการณ์ที่ยังจำติดตาน้ำท่วมใหญ่ 2554
– ประชาชนจึงต้องขนขวาย แสวงหาความจริงในโลก Social มีความสุ่มเสี่ยง ความโกลาหล ความตระหนก ความขัดแย้ง ข้อมูลปราศจากข้อเท็จจริง
– รัฐบาลจึงต้องบริหารวิกฤตินี้ให้ได้ และที่สำคัญต้องเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา
– ทีมผู้เชี่ยวชาญน้ำจากหลายองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชนจึงได้รวมตัวกันเพื่อกอบกู้วิกฤต และจะพยายามให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา
– การประเมินเบื้องต้นสถานการณ์ที่เป็นไปได้สำหรับภาคกลาง และสถานการณ์เลวร้ายที่สุดจากพายุจร ประชาชนที่อยู่ในเขตสีส้มให้ติดตามข้อมูลใน 60 วันอันตรายนี้
ปัจจัยเสี่ยงยังไม่ปรากฏตัว รอถึงเวลา..ปัจจัย+เสี่ยง (น้ำท่วมกรุงเทพ)
อ.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบถึงโอกาสที่น้ำท่วมกรุงเทพ และภาคกลางเหมือนปี 54 หรือไม่?
1.มวลน้ำจากภาคเหนือไหลลงมาซึ่งภาคเหนือมีเขื่อนเก็บกักน้ำอยู่ยกเว้นแม่น้ำยมหากฝนตกลงมามากและมวลน้ำมีมากไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.13 ที่ จ.ชัยนาท หากระบายน้ำออกจากเขื่อนเจ้าพระยาเฉลี่ย 2,800 ถึง 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที จะทำให้ จ.สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา มีน้ำท่วมมากขึ้น และหากมีการตรวจวัดที่สถานีสูบน้ำ C.29 ที่สถานีหน้าศูนย์ศิลปาชีพบางไทรเกิน 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที จะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาช่วง จ.ปทุมธานี นนทบุรี ถึง กรุงเทพฯ มีระดับสูงขึ้นเกิน 1 ม.จากปกติ น้ำจะล้นตลิ่ง
2 .ในช่วงเดือน ก.ย. จนถึงเดือน ต.ค. ของทุกปีจะมีพายุเข้ามาอย่างน้อย 1-2 ลูกหรืออาจจะมากกว่า หากฝนตกท้ายเขื่อนสิริกิติ์และภูมิพลมาก โดยเฉพาะภาคกลางและปทุมธานี กทม. ช่วงนี้ฝนจะตกแบบ Rain bomb (ฝนตกหนักเฉพาะจุดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน) มีโอกาสทำให้น้ำไหลเข้าท่วมมากขึ้น
3. ในช่วงเดือน ต.ค. เป็นเดือนที่มีน้ำทะเลหนุน หากการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่คลองต่างๆ และอ่าวไทยไม่ได้มาก เนื่องจากน้ำทะเลจะทำให้น้ำท่วมนานขึ้น
4. การบริหารจัดการน้ำ การเตรียมตัวของเมืองในการขุดลอกคูคลอง การกั้นตลิ่งการระบายน้ำลงทะเล และการพร่องน้ำจากเขื่อนก่อน ซึ่งจะต้องทำแต่เนิ่นๆ ก่อนน้ำเหนือหลากลงมา
ปัจจัยที่สำคัญที่น้ำจะท่วมถึง จ.ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ ในเดือน ก.ย. และต.ค. คือน้ำเหนือไหลหลาก + กับพายุเข้า และฝนตกหนักท้ายเขื่อน + น้ำทะเลหนุน + การจัดการป้องกันน้ำท่วมไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ก็อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมได้ ..ให้จับตาดูปริมาณน้ำและฝนตกในเดือน ก.ย. – ต.ค. ให้ดี…
ความไม่แน่นอน +ปัจจัยเสี่ยง + อนาคตที่ยากต่อการคาดคะเน ทั้งหมดคือคำตอบว่า ‘น้ำท่วมกรุงเทพ’ หรือไม่?! การเตรียมการรับมือ ในทุกฉากทัศน์ แบบไม่ประมาท น่าจะเป็นคำตอบให้กับคน กทม.ได้ดีที่สุด.
ข้อมูล : ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC
: สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย