“นฤมิตไพรด์” ปักหมุดจัดแต่งงานคู่ LGBTQIAN+ และ “จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม” กว่า 1,000 คู่ ย้ำชัด! กฎหมายสมรสเท่าเทียมคลอด จัดทันที! ไม่รีรอ
นฤมิตไพรด์ พร้อมคณะทำงานสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน และภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันผลักดันพระราชบัญญัติ “สมรสเท่าเทียม” จัดกระหึ่มงาน “เตรียมพร้อมแต่งงาน : นับถอยหลังวันจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม” หลัง Celebration of Love โบกสะบัดธงไพรด์สีรุ้ง ประกาศชัยชนะวันแห่งประวัติศาสตร์ของ LGBTQIAN+ ฉลองกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ผ่านการลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม (ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ….) จากวุฒิสภามาแล้ว แบบสมการรอคอยมานานกว่า 20 ปี โดยพร้อมเดินหน้าจัดงานแต่งงานคู่รัก LGBTQIAN+ และจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมกว่า 1,000 คู่ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ทันที เมื่อมีประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมของประเทศไทยออกมาอย่างเป็นทางการ
โดยครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้คู่รักทุกเพศที่ต้องการจดทะเบียนสมรสสามารถลงทะเบียนล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวันประกาศใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการ พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดของการประกาศใช้กฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” และรายละเอียดต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย
งานแถลงข่าวครั้งนี้มีความสำคัญมากกว่านอกจากมีการให้ข้อมูลสถานการณ์ สถานะของกฎหมาย ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “เตรียมประเทศไทยสู่กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ด้วย ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมสามารถสอบถามสถานะของกฎหมายได้ และไขข้อข้องใจของกฎหมาย แต่กิจกรรมดังกล่าวยังเป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จของการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคและสิทธิมนุษยชนที่ผ่านการผลักดันมาเป็นเวลานาน
วาดดาว – อรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้ง นฤมิตไพรด์ ในฐานะผู้จัดงาน “Bangkok Pride” (บางกอกไพรด์) และกรรมาธิการสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน กล่าวว่า “สมรสเท่าเทียม ถือเป็นบันไดขั้นแรกในการสร้างความเป็นธรรมทางกฎหมายให้กับคู่รัก LGBTQIAN+ ได้รับ หลังจากที่หลายคนรอคอยมานาน แต่ขณะเดียวกัน “สมรสเท่าเทียม” ยังมีผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ เพราะชุมชน LGBTQIAN+ เป็นกลุ่มหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกมิติ การที่ประเทศไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะเปิดโอกาสให้ LGBTQIAN+ และครอบครัวของพวกเขาได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเอง มีสิทธิและโอกาสในการได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศ”
นอกจากนี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็น LGBTQIAN+ ให้มีการยอมรับคนในครอบครัวของตัวเองมากขึ้น ลดการกลั่นแกล้งรังแก ความรุนแรงในโรงเรียน เพราะ “สมรสเท่าเทียม” กำลังทำให้รูปแบบการเรียนการสอนมีความเข้าใจความหลากหลายมากขึ้นและสังคมจะไม่มีการกีดกันการจ้างงานเพราะเพศสภาพที่แตกต่าง
“เราเชื่อว่าประเทศไทยพร้อมสร้างประวัติศาสตร์กับการ “สมรสเท่าเทียม” และชุมชน LGBTQIAN+ของพวกเราก็พร้อมมาก เราจะเฉลิมฉลองด้วยคู่รัก 1,000 คู่ ในวันแรกที่เปิดให้จดทะเบียนสมรส โดยยังมีภาครัฐสนับสนุนตามบทบาท อย่างมี Gender Sensitivity และภาคเอกชนเองก็เตรียมสนับสนุนเต็มที่ในการเฉลิมฉลอง จนถึงนโยบาย สวัสดิการ และประเทศไทยก็พร้อมก้าวไปข้างหน้าสู่ความเท่าเทียม และความเท่าเทียมไม่ใช่แค่ความฝันอีกต่อไป แต่มันคือความจริงของเรา”
วาดดาว – อรรณว์ ชุมาพร กล่าวทิ้งท้ายว่า ความสำเร็จในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมที่เท่าเทียม และการเคารพในความหลากหลายทางเพศ ซึ่งการจัดงาน“เตรียมพร้อมแต่งงาน : นับถอยหลังวันจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม” ในวันนี้ (20 กันยายน 2567) วัตถุประสงค์หลัก คือ
1.ส่งเสริมการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม”
2.เปิดช่องทางลงทะเบียนสำหรับคู่รัก LGBTQIAN+ โดยคู่รักทุกเพศที่ต้องการจดทะเบียนสมรส สามารถลงทะเบียนล่วงหน้า เพื่อเตรียมตัวจดทะเบียนสมรสในวันที่ประกาศใช้กฎหมาย ในวันสำคัญทางประวัติศาสตร์นี้
ด้าน นัยนา สุภาพึ่ง นักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชนเพื่อสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ และกรรมาธิการ “สมรสเท่าเทียม” ภาคประชาชน กล่าวว่า “การจดทะเบียนสมรส ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส 2 ลักษณะ คือ 1.ความสัมพันธ์ส่วนตัว คู่สมรสอยู่กินด้วยกันฉันคู่สมรส ต้องอุปการะเลี้ยงดูกันตาม ความสามารถและฐานะของตน 2.ความสัมพันธ์ด้านทรัพย์สินของคู่สมรส สินสมรส สินส่วนตัว หลังประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม หน่วยงานรัฐทุกองค์กรต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายอีกจำนวนมาก เพื่อให้คู่สมรสได้รับสิทธิ หน้าที่ และสถานะครอบครัว ตามหลักการความเสมอภาค”
ขณะที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “กรุงเทพมหานครได้สนับสนุนสิทธิการ “สมรสเท่าเทียม” มาโดยตลอด เชื่อว่าการให้สิทธินี้จะช่วยให้ทุกคนสามารถมีสิทธิเสรีภาพในเรื่องความรักและครอบครัวได้อย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงสามารถช่วยลดความแตกต่างในสังคม และเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ณ วันนี้ ทางกรุงเทพมหานครมีความพร้อมอย่างมากสำหรับผู้ปฏิบัติงานในทุกเขตในการจดทะเบียนให้กับคู่รักหลากหลายทางเพศ หรือคู่รัก LGBTQIAN+ เพราะกรุงเทพมหานครคือเมืองที่โอบรับความหลากหลาย”.