“สมรสเท่าเทียม” ของ LGBTQIA+ มีอะไรที่มากกว่าแต่การแต่งงาน แต่เป็นชีวิตจัดการหลังการแต่งงานมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องสิทธิและกฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวพัน เพื่อปกป้องคู่รัก นิติกรรมต่างๆ รวมถึงมรดก ต้องศึกษาเพื่อให้รู้จริง!!
ไม่ต้องแปลกใจหากจะมีหลายสื่อนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับ LGBTQIA+ มากเป็นพิเศษในระยะนี้ “สมรสเท่าเทียม” ถือเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย TOPPIC Time จะขอเล่าเรื่องที่ LGBTQIA+ ต้องรู้หลัง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม มีผลบังคับใช้ โดยเฉพาะด้านสิทธิและอำนาจตามกฎหมาย หลังราชกิจจาฯ ได้เผยแพร่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ส่งผลให้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน ใช้จริง 23 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
มท.เตรียมพร้อมทุกมิติ รับ “สมรสเท่าเทียม”
– กรมการปกครอง เตรียมการแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว (สมรสเท่าเทียม) เพื่อรองรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และนายทะเบียนทั้งในสำนักทะเบียนอำเภอและสำนักงานเขต
– เตรียมระบบคอมพิวเตอร์ และแบบพิมพ์ต่าง ๆ และจะดำเนินการซักซ้อมทดลองระบบก่อนในช่วงเดือนธันวาคม 2567 และสามารถปฏิบัติงานจริงตามที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมกำหนด ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2568
– ซักซ้อมการปฏิบัติงาน การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้การเปิดให้บริการการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ในทุกช่องทางการสื่อสาร เช่น เว็บไซต์กรมการปกครอง การประชาสัมพันธ์โดยสำนักงานเลขานุการกรม การแจ้งผ่านผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน
– เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 23 มกราคม 2568 นายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ/สำนักงานเขต ทุกแห่งต้องสามารถให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม
“สมรสเท่าเทียม” สิทธิที่กลุ่ม LGBTQIA+ ควรรู้
– สิทธิการดูแลชีวิตของคู่รัก คู่สมรสสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลทางการแพทย์ของคู่รัก เช่น การรักษาพยาบาลและการตัดสินใจสำคัญในกรณีที่คนรักไม่สามารถตัดสินใจเองได้ รวมถึงสิทธิในการจัดการเรื่องต่างๆ หากคู่รักเสียชีวิต เช่น การจัดการศพ
– สิทธิในการแต่งงาน คู่รัก LGBTQIA+ สามารถจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมในประเทศไทยได้ตามกฎหมาย และได้รับสิทธิทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการหมั้น การจัดการทรัพย์สินคู่สมรส การเป็นทายาทโดยธรรม และการรับสิทธิประโยชน์จากรัฐ เช่น สวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม รวมถึงสิทธิในการขอสัญชาติ
– สิทธิในการเป็นพ่อแม่ตามกฎหมาย คู่รัก LGBTQIA+ สามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ โดยไม่จำกัดให้เพียงคนเดียวเท่านั้นที่มีสิทธิตามกฎหมาย
– สิทธิในการหย่าร้าง คู่รัก LGBTQIA+ จะมีสิทธิตามกฎหมายในการหย่าร้าง รวมถึงสิทธิในการดูแลบุตร การเรียกค่าเลี้ยงชีพ และการแบ่งสินสมรส (สมรสเท่าเทียม)
สิทธิที่ต้องศึกษาและรับรู้หลัง “สมรสเท่าเทียม” (ทรัพย์สิน-เงินทอง)
– สิทธิในการรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม เมื่อคู่รัก LGBTQIA+ จดทะเบียนสมรสกันแล้ว พวกเขาจะมีสถานะเป็นทายาทโดยธรรมของกันและกัน เช่นเดียวกับคู่สมรสต่างเพศ นั่นหมายความว่าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต อีกฝ่ายจะมีสิทธิในการรับมรดกตามลำดับชั้นของทายาทโดยธรรม ซึ่งรวมถึงทรัพย์สินที่เป็นทั้งส่วนของสินสมรสและทรัพย์สินส่วนบุคคล
– สิทธิในการจัดการสินสมรส ทรัพย์สินที่ได้มาหลังการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมจะถือเป็นสินสมรส ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีสิทธิ์ร่วมในการจัดการ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต ทรัพย์สินส่วนนี้จะต้องมีการแบ่งให้ทายาทตามกฎหมาย
– กรณีข้อพิพาทเรื่องมรดก หากมีการโต้แย้งเกี่ยวกับการแบ่งมรดก คู่สมรส LGBTQIA+ จะมีสิทธิในการปกป้องและเรียกร้องสิทธิ์ของตนตามกฎหมาย เช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศที่จดทะเบียนสมรส
สิทธิและความเสมอภาค หลังกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” มีผลบังคับใช้แล้ว เป็นเรื่องที่คู่สมรส LGBTQIA+ ต้องรู้ แม้จะมีบางกฎหมายที่อาจจะต้องปรับปรุงแก้ไข หรือรอการออกระเบียบในอนาคตก็ตาม เพื่อพิทักษ์ปกป้องสิทธิของตัวเองและคนที่เรารัก!!