ถอดบทเรียน “แตงโม นิดา” ตกแม่น้ำเจ้าพระยา โทรแจ้งเหตุเบอร์อะไร ? เซฟเอาไว้เลย พร้อมปักหมุดวิธีเบื้องต้นช่วยเหลือคนตกน้ำ…
แนะแนวทางช่วยเหลือผู้จมน้ำ ถอดบทเรียนหลังเหตุการณ์ดาราสาวพลัดตกแม่น้ำเจ้าพระยา คาดเคส “แตงโม นิดา” ปัจจัยอาจเกิดจากความเลินเล่อประมาท สำหรับการช่วยเหลือผู้จมน้ำคนตกน้ำหรือจมน้ำ คือ “ต้องมีสติ” โดยวิธีการช่วยเหลือมีหลัก 4 ข้อ คือ “ยื่น – โยน – พาย – ลาก”
โดยเบื้องต้น คือ ยื่นอุปกรณ์ให้จับ เช่น เสื้อผ้า เข็มขัด ท่อนไม้ ห่วงหรือไม้ตะขอ และโยนอุปกรณ์ที่ลอยน้ำให้เกาะ เช่น ถังพลาสติก ห่วงชูชีพ ยางในรถยนต์
จากนั้นผู้ช่วยเหลืออาจเอาเชือกผูกอุปกรณ์เหล่านั้น เพื่อลากคนตกน้ำเข้าฝั่ง หรือบนเรือ ซึ่งวิธีการช่วยเหลือดังกล่าว ผู้ช่วยเหลือจะมีความปลอดภัยเกือบ 100% เพราะผู้ช่วยอยู่บนฝั่งหรือยืนได้ในน้ำตื้น
ส่วนวิธีการกระโดดลงน้ำไปช่วยนั้น เป็นวิธีการที่ต้องพึงระวัง และผู้ช่วยเหลือจะต้องมีประสบการณ์อย่างมาก เพราะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการช่วยเหลือคนตกน้ำและจมน้ำ
ส่วนการช่วยเหลือและปฐมพยาบาลคนจมน้ำ ก่อนส่งโรงพยาบาล แนะนำว่า
1. สังเกตว่าถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้เป่าปากช่วยหายใจทันทีอย่าเสียเวลาพยายามเอาน้ำออกจากปอดหรือผายปอดด้วยวิธีอื่น เพราะจะไม่ทันการณ์และไม่ได้ผล
ถ้าเป็นไปได้ควรลงมือเป่าปาก ตั้งแต่ก่อนขึ้นฝั่ง เช่น พาขึ้นบนเรือ หรือพาเข้าที่ตื้นๆ ทั้งนี้เมื่อเริ่มเป่าปากสักพัก หากรู้สึกว่าลมเข้าปอดได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากมีน้ำอยู่เต็มท้อง ให้จับผู้ป่วยนอนคว่ำ ใช้มือ 2 ข้างวางใต้ท้องผู้ป่วย ยกท้องผู้ป่วยขึ้น จะช่วยไล่น้ำออกจากท้องให้ไหลออกทางปากได้ แล้วจับผู้ป่วยพลิกหงายเป่าปากต่อไป
2.หากคลำชีพจรไม่ได้ หรือหัวใจหยุดเต้น ให้นวดหัวใจทันที
3.ถ้าผู้ป่วยยังหายใจได้เอง หรือช่วยเหลือจนหายใจได้แล้ว ควรจับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปข้างหลังเพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความอบอุ่น อย่าให้กินอาหารและดื่มน้ำทางปาก
4.ควรส่งผู้ป่วยที่จมน้ำไม่ว่าจะมีอาการหนักเบาเพียงใดไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลทุกราย ในรายที่หมดสติและหยุดหายใจ ผายปอดด้วยวิธีเป่าปากไปตลอดทาง อย่ารู้สึกหมดหวังแล้วหยุดให้การช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม สามารถขอความช่วยเหลือด้านการแพทย์ได้ที่สายด่วน 1669
ทั้งนี้ จากกรณี “แตงโม นิดา” พลัดตกจากเรือสปีดโบ๊ต นั้น เป็นบทเรียนที่ทุกคนควรรับรู้เพื่อรับมือ ซึ่งเบอร์โทร.ฉุกเฉินที่ต้องติดไว้ในโทรศัพท์ และควรโทร.ทันที หลังเกิดเหตุด่วนเหตุร้ายที่ไร้การควบคุม มีเบอร์อะไรกันบ้างไปดูกัน
1669 แจ้งกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน
191 แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย
199 แจ้งเหตุอัคคีภัย ไฟไหม้
1192 แจ้งเหตุรถถูกโจรกรรม รถหาย
1193 แจ้งตำรวจทางหลวง
1196 แจ้งอุบัติทางน้ำ
1197 แจ้งเหตุ-ติดต่อสอบถามข้อมูลการจราจร
1155 แจ้งเหตุกับตำรวจท่องเที่ยว
1543 แจ้งอุบัติเหตุที่เกิดบนทางด่วน
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวเน็ตทั้งหลายต่างลงความเห็นกันว่า การที่มีเบอร์โทร.ฉุกเฉินหลายเบอร์นั้นอาจทำให้เกิดความสับสนล่าช้าในการเลือกหา แนะนำให้ทำเป็นเบอร์เดียวจะดีกว่า แล้วเมื่อถึงเวลาคอลเซ็นเตอร์จะเป็นฝ่ายต่อหาหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์โดยตรง ซึ่งกรณีเช่นนี้ต่างประเทศได้ทำมานานแล้ว และสะดวกต่อการคัดกรองแต่ละกรณี.