เลือกตั้ง 2566 เดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายแล้ว สำหรับการ เลือกตั้ง ครั้งนี้ ถือเป็นการกำหนดชะตาประเทศตามระบอบประชาธิไตย โดยวันที่ 14 พ.ค. 2566 ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งหมด 52,322,824 คน จะออกมาใช้สิทธิกันทั่วประเทศ โดยจะต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า 90 วัน ไปดูผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ ที่จำแนกได้ ดังนี้ :
– ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (First Voter) มีจำนวน 4,012,803 คน คิดเป็นร้อยละ 7.67 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
– ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นผู้สูงอายุ มีจำนวน 14,378,037 คน คิดเป็นร้อยละ 27.48 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
– เจเนอเรชั่น X (ผู้มีอายุ 42-57 ปี) เป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งมากที่สุด มีจำนวน 16,151,442 คน คิดเป็นร้อยละ 30.87 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
สำหรับขั้นตอน และวิธีการเป็นอย่างไร TOPPIC Time จะบอกกล่าว เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจ และเข้าคูหาได้อย่างมั่นใจ ก่อนกาบัตรเลือกตั้ง
รู้ลึก กติกา เลือกตั้ง 2566 ต้องเตรียมอะไรไปบ้าง?
จำให้แม่น! บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
– สีม่วง เลือกคนที่รัก (ส.ส.เขต)
– สีเขียว เลือกพรรคที่ชอบ (ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์)
เปิดหีบตั้งแต่ 08.00 – 17.00 น. แสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ก่อน 17.00 น. ก็ยังสามารถใช้สิทธิได้ โดยให้จดจำหมายเลข ส.ส.เขตเลือกตั้งที่จะเลือก (บัตรสีม่วง) และเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยจะมีสัญลักษณ์ของพรรคการเมือง (บัตรสีเขียว)
หลักฐาน ที่ใช้ยื่นแสดงตัวตน
– บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)
– บัตรหรือหลักฐานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้โดยมีรูปถ่ายและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนเช่น บัตรประจำตัวเจ้า หน้าที่ของรัฐ ใบขับขี่ พาสปอร์ต
– บัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์จาก แอปพลิเคชัน D.DOPA หรือ ใบอนุญาตขับขี่อิเล็กทรอนิกส์จากแอปพลิเคชัน DLT QR LICENCE สามารถใช้เป็นหลักฐานแสดงตนได้
HOW TO เลือกตั้ง 2566 ฉบับประชาชน
ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบรายชื่อ
ตรวจสอบรายชื่อและลําดับที่จากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ประกาศไว้หน้าหน่วยเลือกตั้ง หรือตรวจสอบข้อมูลการใช้สิทธิทางแอปฯ Smart Vote
ขั้นตอนที่ 2 ยื่นหลักฐานแสดงตน
ยื่นบัตรประชาชนหรือหลักฐานแสดงตน ให้กรรมการประจําที่เลือกตั้งกลาง เพื่อตรวจสอบข้อมูลและยืนยันตัวตน พร้อมลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ขั้นตอนที่ 3 รับบัตรเลือกตั้ง
รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้ว หัวแม่มือขวา บนต้นขั้วบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ประเภท โดยกรรมการประจําที่เลือกตั้งลงลายมือชื่อในต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง
ขั้นตอนที่ 4 ทําเครื่องหมายกากบาท
เข้าคูหาลงคะแนน ทําเครื่องหมายกากบาท X ลงในช่องทําเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้ง แต่ละประเภท โดยสามารถเลือกผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ได้เพียงบัตรละหมายเลขเดียว หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครใดหรือบัญชีรายชื่อ ของพรรคการเมืองใดเลย ให้ทําเครื่องหมายกากบาท X ในช่องไม่ประสงค์เลือกผู้สมัครผู้ใดหรือ ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด
ขั้นตอนที่ 5 หย่อนบัตรด้วยตนเอง
เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วพับบัตรเลือกตั้งแต่ละประเภท ให้เรียบร้อย และหย่อนบัตรลงในหีบบัตรเลือกตั้งแต่ละประเภทให้ถูกต้องด้วยตนเอง
วิธี เลือกตั้ง ของ คนพิการ หรือผู้สูงอายุ
– ลงทะเบียนไปใช้สิทธิที่หน่วยเลือกตั้งกลางสำหรับผู้พิการโดยเฉพาะ
– แจ้งเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยให้ช่วยอำนวยความสะดวกได้ เช่น ขอบัตรทาบให้ผู้พิการทางสายตา โดยทั่วไปผู้พิการจะต้องออกเสียงด้วยตนเอง แต่หากลักษณะทางกายภาพไม่สามารถทำเครื่องหมายออกเสียงเลือกตั้งได้ สามารถให้บุคคลอื่นหรือเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย ทำเครื่องหมายแทนได้ ถือว่าเป็นการลงคะแนนโดยตรง และลับตามกฎหมาย
ไม่ เลือกตั้ง เสียสิทธิ อะไรบ้าง?
– สิทธิในการยื่นคําร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.
– สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือสมาชิก สภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.
– สิทธิในการสมัครรับเลือกเป็นกํานันและผู้ใหญ่บ้าน
– ต้องห้ามดํารงตําแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
– ต้องห้ามดํารงตําแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการ ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นหรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การจํากัดสิทธิทั้ง 5 ข้อ กําหนดเวลาครั้งละ 2 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง ครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และหากในการเลือกตั้งครั้งต่อไปไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอีก ให้เริ่ม นับเวลาการจํากัดสิทธิ 2 ปีใหม่
How To ป้องกันการเสียสิทธิ เลือกตั้ง
ผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสามารถแจ้งเหตุอันไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ 2 ขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้
1.ก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน ขอรับแบบ ส.ส. 28 หรือทําหนังสือชี้แจงเหตุที่ทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ และให้ระบุเลขประจําตัวประชาชนและที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน
2.ยื่นหนังสือต่อนายทะเบียนอําเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น โดยสามารถยื่นด้วยตนเอง หรือมอบหมายผู้อื่น หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือแจ้งทางอินเทอร์เน็ต
ข้อห้าม ในการกระทำความผิดกฎหมาย เลือกตั้ง
- ห้ามซื้อเสียง หรือจัดเตรียมซื้อเสียง
- ห้ามรับเงินและประโยชน์อื่นใด เพื่อลงคะแนน หรืองดเว้นไม่ลงคะแนน
- ห้ามจำหน่าย จ่ายแจกหรือจัดเลี้ยงสุรา ตั้งแต่ 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้ง จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
- ห้ามนายจ้างขัดขวางการไปใช้สิทธิของลูกจ้าง
- ห้ามขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยว มิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไป ณ ที่เลือกตั้ง
- ห้ามจัดยานพาหนะ (ยกเว้นหน่วยงานรัฐ) ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเลือกตั้ง โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสาร
- ห้ามทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุดอย่างจงใจ
- ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้ง ที่ตนเองได้ลงคะแนนแล้วด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด ๆ
- ห้ามเล่นการพนันขันต่อใด ๆ เกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง
- ห้ามเปิดเผยหรือเผยแพร่ผลสำรวจ ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง (โพล) ในระหว่างเวลา 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง จนถึงเวลาปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง
- ห้ามนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง
How To พบทุจริตการเลือกตั้ง
เช่น การแจกเงิน สิ่งของ ประชาชนสามารถรายงานสถานการณ์และป้องกันการทุจริตเลือกตั้งได้ สามารถดำเนินการได้ ดังนี้…
ช่องทางที่ 1 แอปพลิเคชัน “ตาสับปะรด” รายงานสถานการณ์ได้ทั้งข้อความ ภาพ เสียง หรือวีดีโอ
ช่องทางที่ 2 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานครทุกแห่ง
ช่องทางที่ 3 บริการสายด่วน กกต. 1444
สำหรับผลการเลือกตั้ง เป็นเรื่องไม่อาจจะคาดเดาได้ แต่ที่แน่ๆ อยากได้ผู้นำที่ดี มีความซื่อสัตย์ จริงใจ แก้ปัญหาให้กับประชาชน และประเทศชาติ เพื่อผลักดันให้ไทยกลับมาเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งอาเซียน
“กินอิ่ม นอนหลับ เศรษฐกิจดี” นั่นแหละที่ต้องการ!!