โหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 1 โหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 โหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 อ่ะยังไง? เรื่องราวของการ โหวตนายกรัฐมนตรี เข้มข้นขึ้นทุกขณะ หลายฝ่ายทางการเมือง ออกมาแสดงความเห็นกันอย่างมากมาย ถึงการ โหวตนายกคนที่ 30 ขณะที่ 8 พรรคร่วมเร่งเดินเกม เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติ ได้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา มาเป็นว่าที่ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยกำหนดนัดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 ก.ค. เวลา 9.30 น. เรื่องราวจะจบกันที่วันที่ 13 ก.ค. เลยหรือไม่ หรือจะยืดเยื้อต่อไปอย่างไร TOPPIC Time ชวนทุกคนมาลุ้นตามไปด้วยกัน
โหวตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ต้องขานชื่อโหวตกันถึง 3 ครั้ง จริงหรือ?
ครั้งแรก ครั้ง 2 ไม่ผ่าน ต้องโหวตนายกรัฐมนตรีกันถึง 3 ครั้ง
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ว่าที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 จากพรรคเพื่อไทย ระบุว่า “ถ้าการ โหวตนายกคนที่ 30 ครั้งแรก ในที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 13 ก.ค.นี้ ยังไม่มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใด ได้คะแนนถึง 376 เสียง นายวันมูหะมัดนอร์ ได้เตรียมนัดประชุมครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 เบื้องต้นเป็นในวันที่ 19 และวันที่ 20 ก.ค. ต่อทันที เพราะเข้าใจว่า…การจะเรียกประชุม 2 สภา 750 คนบ่อยๆ คงลำบาก และคาดว่า…ใน 3 วันนี้ว่าจะได้นายกรัฐมนตรีแน่นอน”
ทั้งนี้ หากยังเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้อีก นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภา และที่ประชุม 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาล ว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป แต่ย้ำ 8 พรรค จะเป็นไปตาม MOU เราจะจับมือกันไป เพื่อหาทางออกต่อไปอย่างไร
รทสช. พร้อมเป็นฝ่ายค้าน ลั่นไม่จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โพสต์จุดยืน ระบุว่า การ โหวตนายกรัฐมนตรี ที่มีกระแสข่าวว่า รทสช.จะส่ง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค แข่งกับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกลนั้น ไม่เป็นความจริง แม้ส่วนตัวอยากเห็นนายพีระพันธุ์ เป็นนายกฯ แต่ต้องยอมรับว่า พรรคมีเพียง 36 เสียง ไม่พอที่จะไปเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จึงไม่สนับสนุนการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาฯ อย่างเด็ดขาด
“ผมขอปฏิเสธชัดๆ ไปเลยว่า เราไม่เอารัฐบาลเสียงข้างน้อย หากจะต้องเป็นฝ่ายค้าน ก็เป็นครับ”
ขั้นตอนโหวตนายกคนที่ 30 ของเหล่า ส.ว.
อย่างไรก็ตาม มีรายงานความเคลื่อนไหวในฝั่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา หรือวิปวุฒิสภา ล่าสุดที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธาน ได้หยิบยกขั้นตอนการ โหวตนายกรัฐมนตรี ขึ้นหารือ ว่า การ โหวตนายกคนที่ 30 สามารถดำเนินการได้กี่ครั้ง ในกรณีที่ นายพิธา ได้รับเสียงเห็นชอบ ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา หรือ 376 เสียงในรอบแรก จะยังมีคุณสมบัติในที่ประชุมรัฐสภาเสนอชื่อในรอบที่ 2 หรือไม่ มีการยกกรณีการพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระของวุฒิสภา ที่หากไม่ได้รับความเห็นชอบ จะไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าสู่การพิจารณาอีกขึ้นมาเทียบเคียง
ทั้งนี้ หากกรณีที่ 1 ไม่เป็นเงื่อนไขในการเสนอชื่อเพื่อโหวตนายกฯ มากกว่า 1 ครั้ง การนัดประชุมรัฐสภา ควรดำเนินการอย่างไร? ส.ว. ส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรมีการนัดประชุมเพื่อลงมติถี่ๆ กัน ควรเว้นระยะเวลาการลงมติเลือกนายกฯ 2 สัปดาห์ กรณีไม่ได้ข้อยุติในรอบแรก
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้เสนอให้ประธานวุฒิสภา ไปหารือกับ นายวันมูหะมัดนอร์ และมอบให้ ส.ว. ในฐานะผู้แทนวิป 3 ฝ่าย ไปหารือร่วมกับผู้แทน ส.ส. และรัฐบาล ต่อแนวทางการเว้นระยะเวลาลงมติเลือกนายกฯ ด้วย.