กระทรวงพาณิชย์ ผนึกมือ คกก.ซอฟต์พาวเวอร์ ลุยเต็มสูบติดปีกผู้ประกอบการไทย Soft Power X ทรัพย์สินทางปัญญา ผลักดันสู่เวทีโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ตั้งเป้าโกยเงิน 4 ล้านล้านต่อปี
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดสัมมนา “ติดปีกทางการค้าให้ผู้ประกอบการไทยด้วย Soft Power X ทรัพย์สินทางปัญญา” พร้อมด้วย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน จัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
พร้อมระบุว่า รัฐบาลต้องการเปลี่ยนให้ไทย เป็นประเทศอุดมสมบูรณ์ด้านวัฒนธรรม สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ออกนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ One Family One Soft Power (OFOS) สอดแทรกวัฒนธรรมไทยไปสู่ผู้บริโภคทั่วโลก สร้างการยอมรับวัฒนธรรมไทยที่มีพลังสูง เปลี่ยนทักษะพื้นบ้านเป็นทักษะสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตขึ้น
เปิด 12 สาขาอุตสาหกรรม เป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’
“ตั้งเป้าสร้างงานให้คนไทย 20 ล้านตำแหน่ง สร้างรายได้ 4 ล้านล้านบาทต่อปี ผ่านอุตสาหกรรม 12 สาขา ประกอบด้วย
1. ท่องเที่ยว
2. เทศกาล
3. กีฬา
4. อาหาร
5. ภาพยนตร์
6. ละครและซีรีส์
7. ดนตรี
8. ศิลปะ
9. หนังสือ
10. เกม
11. ออกแบบ
12. แฟชั่น
ส่งเสริม ซอฟต์พาวเวอร์ ตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ โดยการสร้างแบรนด์นวัตกรรมและการออกแบบผลักดันสู่ตลาดโลก มีเป้าหมายในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ อาหาร ดิจิทัลคอนเทนต์ มวยไทย การท่องเที่ยว หนังสือ และเกม ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารเพื่อส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทยด้านอาหารผ่านครัวไทยสู่ครัวโลก เช่น งาน Anuga ที่เยอรมนี สร้างมูลค่ากว่า 5,300 ล้านบาท และงานแสดงสินค้ากลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น งาน ASIAN Contents & Film Market ประเทศเกาหลีใต้ และงาน TIFFCOM (ทิฟคอม) ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น สร้างรายได้รวมกว่า 2,600 ล้านบาท”
รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กล่าว
พัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ เต็มสูบทั้งระบบ
นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า นโยบาย ซอฟต์พาวเวอร์ จะเป็นนโยบายหลักผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น เป็นพลังอำนาจที่เมื่อเกิดขึ้นกับวัฒนธรรมใด มีคนคล้อยตามโดยไม่ต้องบีบบังคับจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากมายต่อวัฒนธรรมและประเทศเหล่านั้น จะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ นำสินทรัพย์ทางปัญญาที่มีคุณค่าให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก สร้างงานและเพิ่มรายได้มากขึ้น และจะต้องทำทั้งระบบ เช่น การทำ OTOP สนับสนุนสินค้าไทยอย่างเป็นระบบ ครัวไทยสู่ครัวโลก สร้างเชฟไทยส่งออกไปต่างประเทศ ให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก การสนับสนุนแฟชั่นครั้งใหญ่กรุงเทพ เมืองแฟชั่นจุดพลุให้ทั่วโลกมองเห็นศักยภาพแฟชั่นไทย
“ซอฟต์พาวเวอร์ ต้องทำทั้งระบบ ต่อเนื่องในระยะยาว ตั้งแต่ ต้นน้ำ คือการพัฒนาคน ทักษะ เพื่อรองรับ กลางน้ำ การพัฒนาอุตสาหกรรม เอื้อต่อการทำธุรกิจ และปลดล็อคกฎหมายที่เป็นอุปสรรค และปลายน้ำ นโยบายต่างประเทศ ผลักดันวัฒนธรรม การสร้างแบรนด์ดิ้งให้ประเทศไทย รวมไปถึงการสร้างหมุดหมายใหม่ของนักท่องเที่ยวที่ประเทศไทย โดยเฉพาะปลุกเทศกาลสงกรานต์ (ตลอดเดือนเมษายน) โดยรัฐบาลสนับสนุนให้เอกชนที่รู้จริงนำซอฟต์พาวเวอร์ไปทำให้เป็นไปได้จริงสร้างมูลค่า” นางสาวแพทองธาร ระบุทิ้งท้าย
นอกจากนี้ ทั้งยังมีการจัดแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ และการจัดแสดงผลงานของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม Soft Power คูหาให้บริการของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และคูหาให้บริการของกรมทรัพย์สินทางปัญญา.