ไทย ประเทศที่ 3 ในเอเชีย หลังสภาไทยอนุมัติ 4 ร่างกฎหมาย สมรสเท่าเทียม ในวาระแรก ก่อนเดินหน้าพิจารณาวาระ 2-3 เพื่อบังคับเป็นกฎหมายเต็มรูปแบบ รับรองสิทธิในทุกมิติทางสังคมของสังคมไทย ชีวิตคู่และครอบครัว TOPPIC Time ขอไล่เรียงไทม์ไลน์ และขั้นตอนก่อนจะครบกระบวนการ ดังนี้
กฎหมายสมรสเท่าเทียม 4 ฉบับฉลุย
สภาผู้แทนราษฎร ผ่านร่างกฎหมายพระราชบัญญัติ แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมาย สมรสเท่าเทียม หลังกฎหมายยังรับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง เท่านั้น เพื่อให้รับรองการสมรสสำหรับบุคคลสองคน ไม่ว่าจะมีเพศตามทะเบียนราษฎรเป็นเพศใด เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ทั้ง 4 ฉบับ ดังนี้
1. ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล
2. ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชน ใช้กลไกเข้าชื่อเสนอกลไกรวบรวมรายชื่อ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน 10,000 ชื่อ (11,611 ชื่อ) เสนอ
3. ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย คณะรัฐมนตรี (ครม.) ผลักดันโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
4. ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
โดยสภาผู้แทนราษฎร มีมติ รับหลักการ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั้ง 4 ฉบับในวาระ 1 เห็นด้วย 369 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง
ไทม์ไลน์ กฎหมายสมรสเท่าเทียม
– สภาฯ รับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระแรก
– มีการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ เมื่อแล้วเสร็จ จะเข้าสู่การพิจารณารายมาตราในวาระ 2
– สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบในวาระ 3
– หลังจากพิจารณาชั้นสภาผู้แทนราษฎรครบทั้ง 3 วาระ จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา 3 วาระต่อไป
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ทวีต x แสดงความยินดีกับพี่น้อง LGBTQIA+ ทุกท่านที่ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ได้ผ่านการโหวตวาระที่หนึ่ง ด้วยคะแนนท่วมท้น วันนี้ก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นแล้ว
ท่าทีแอมเนสตี้ กับกฎหมายสมรสเท่าเทียม
“ชนาธิป ตติยการุณวงศ์” นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุ ไทยมีโอกาสเป็นประเทศที่สามในเอเชียที่มีกฎหมายรับรองการสมรสเท่าเทียม หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม นับเป็นโอกาสที่จะสร้างตัวอย่าง สนับสนุนสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในภูมิภาค ที่ให้มีการคุ้มครองสิทธิในการมีครอบครัวอย่างเต็มที่ รวมทั้งสิทธิในการรับบุตรบุญธรรม และสิทธิเกี่ยวกับมรดกของคู่สมรสหลากหลายทางเพศ รวมทั้งการยอมรับคู่สมรสเพศเดียวกันตามกฎหมาย ในฐานะ “คู่สมรส” ที่มีความเท่าเทียมกับคู่สมรสต่างเพศ
“การสร้างหลักประกันคุ้มครองสมรสเท่าเทียมอย่างสมบูรณ์ตามหลักกฎหมาย ไม่เพียงเป็นการส่งสัญญาณต่อประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ แต่รวมถึงประเทศอื่นๆ ทั่วโลกด้วย ในช่วงเวลาที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก กำลังแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่ล้าหลัง และสร้างสังคมที่มีความครอบคลุมทุกคนมากขึ้น”
‘ไทย’ ประเทศที่ 3 ของเอเชียรับรองกฎหมายสมรสเท่าเทียม
– ไต้หวัน นับเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่รับรองการสมรสเพศเดียวกัน ในปี 2562
– เนปาล เป็นประเทศที่ 2 ที่ให้การรับรองกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยในเดือนพฤศจิกายน 2562 หน่วยงานระดับท้องถิ่นได้จดทะเบียนสมรสของคู่สมรสผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นคู่แรก