ฉายาสภา 66 สุดแสบทรวง ละครโรงใหญ่แห่งสภาการเมือง ปี 2566 ดุเดือดเฉือนคม “สภาลวงละคร” ส่วนวุฒิสภา รับ “แตก ป. รอ Retire” ขณะที่ 2 ประธาน ทั้งสภาฯ และวุฒิสภา รับฉายา “นอ มินี” กับ “แจ๋วหลบ จบแล้ว” ด้าน “พิธา” คว้า “ดาวดับ” ชวดเก้าอี้นายกฯ
นี่คืออีกหนึ่งธรรมเนียมของผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ตั้งฉายาของรัฐสภาตลอดปี 2566 หรือ ฉายาสภา 66 ในฐานะผู้ทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. เพื่อสะท้อนความคิดเห็นการทำหน้าที่ในรอบปี คล้ายกระจกเงาที่เป็นการกระตุกเตือนแวดวงการเมือง
ฉายาสภา 66 สุดแสบ สภาผู้แทนราษฎร – สภาลวงละคร
มีการชิงไหวชิงพริบ เพื่อเป็นเจ้าของอำนาจ มีการเจรจาจับมือกันหลายฝ่าย โดยในครั้งแรกพรรคเพื่อไทยเล่นตามบทเป็นมวยรอง แต่สุดท้ายใช้สารพัดวิธีพลิก กลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หักเหลี่ยมเฉือนคม ตั้งแต่การเลือกนายกรัฐมนตรี จนถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เปรียบเสมือนโรงละครโรงใหญ่ ที่มีแต่ฉากหลอกลวง
วุฒิสภา ฉายา “แตก ป. รอ Retire”
ล้อมาจากปีก่อน คือ ตรา ป. ที่ ส.ว.ทำหน้าที่รักษามรดกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปีนี้ 2 ป.แตกกัน ขณะที่ ส.ว.กำลังจะหมดอำนาจหน้าที่ในเดือน พ.ค. 2567 จึงเป็นเสมือนการรอเวลาเกษียณ หมดเวลาการทำหน้าที่ จึงได้ ฉายาสภา 66 นี้ไป
ประธานสภาผู้แทนราษฎร ฉายา ‘(วัน) นอ-มินี’
หลัง 2 พรรคใหญ่แย่งชิง สุดท้ายใช้โควตาคนนอก ที่พรรคเพื่อไทย นำเสนอชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นเสมือนนอมินี ทั้งยังเคยเป็นคนของพรรคเพื่อไทยมาก่อนด้วย เลยกลายเป็น “วัน นอ-มินี”
ประธานวุฒิสภา ฉายา ‘แจ๋วหลบ จบแล้ว’
คำว่าแจ๋ว เปรียบเสมือนบทบาทของผู้รับใช้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่า เป็นผู้รับใช้ คสช. กับบทบาทยุคปัจจุบัน พยายามหลบแรงปะทะ ไม่แสดงความเห็นที่เสี่ยงต่อการสร้างความขัดแย้งมากนัก รวมถึงไม่ออกสื่อ เพื่อรอเวลาวุฒิสภาหมดวาระ กับ ฉายาสภา 66 แจ๋วหลบ จบแล้ว
ฉายา ‘ดาวดับ 66’ นายพิธา
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล โดดเด่นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง จนกระทั่งรู้ผลเลือกตั้ง เดินสายขอบคุณประชาชน ประหนึ่งว่าเป็นนายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายกลับไปไม่ถึงดวงดาว สภาไม่ได้เหยียบ ทำเนียบไม่ได้เข้า ศาลรัฐธรรมนูญสั่งแขวน จึงได้ฉายานี้มา “ดาวดับ”
วาทะแห่งปี 66
“เราเห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเราเป็นพรรคอันดับสอง มีความยินดีร่วมมือจัดตั้งรัฐบาล และถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พรรคเพื่อไทยไม่มีทางจับมือกับพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล เราเป็นพรรคอันดับสอง สามารถที่จะแย่งชิงจัดตั้งรัฐบาลได้ ถ้ากลไกการเมือง และรัฐธรรมนูญมันปกติ แต่ด้วยสภาพบังคับของรัฐธรรมนูญแบบนี้ เราไม่ร่วมมือกันไม่ได้ แต่เราก็คิดผิด เพราะว่ายิ่งเราจับมือกันยิ่งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้”
คำพูดของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ครั้งเมื่อนั่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นชี้แจงคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ในการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 66 วาทะเด็ดจริงๆ
เหตุการณ์แห่งปี คือ ‘เลือกนายกรัฐมนตรี’
และสุดท้ายอีก 1 ประวัติศาสตร์ ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีมากถึง 3 ครั้ง 1-2 ครั้งแรกเสนอชื่อ คือนายพิธา แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา กระทั่งลงตัวครั้งสุดท้าย เป็นนายเศรษฐา ทวีสิน นั่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
ฟังแล้วก็อื้อหือจริงๆ นี่แหละหนา ฉายาสภา 66 หนีไม่พ้นความจริง!!