“นายกรัฐมนตรี” คนที่ 31 จะมาเมื่อไหร่?? เมื่อการเมืองไทยเจอสุญญากาศ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก ฟัน “เศรษฐา ทวีสิน“ พ้นเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” คนที่ 30 โดย ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบายขั้นตอน หลัง ครม. เป็น ครม.รักษาการ และต้องเลือกนายกฯ คนที่ 31 ในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ตามชื่อในบัญชีรายชื่อที่เสนอไว้ในการหาเสียง ปี 2566 กับ กกต.
เรื่องราวเข้มข้นหลังเจอเหตุการณ์การเมืองที่ช็อกนิดหน่อยไปเมื่อตอนบ่าย 4 ของวันที่ 14 สิงหาคม 2567 TOPPIC Time ขอไล่เรียงสรุปเรื่องราวของวันนี้ ให้ทุกคนได้รู้ความเป็นไปทางการเมือง ว่านับจากวันนี้เป็นต้นไป…จะเป็นเช่นไร??
มติศาลรัฐธรรมนูญ 5 : 4 สั่งฟัน “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” คนที่ 30
“ศาลรัฐธรรมนูญ” สั่งฟัน “เศรษฐา ทวีสิน“ นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 พ้นจากตำแหน่ง เป็นนับเป็นคนที่ 4 ที่ถูกถอดจากตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” จากคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน ถูกมติของศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก คือ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ ตามคำร้องของ 40 ส.ว. ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการแต่งตั้ง นายวิชิต ชื่นบาน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรี
– มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) เนื่องจากไม่มีความชื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ
– มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5)
– “เศรษฐา ทวีสิน” ได้ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” คนที่ 30 เมื่อวันที 22 สิงหาคม 2566 – 14 สิงหาคม 2567 เป็นระยะเวลา 358 วัน
– ส่งผลให้ คณะรัฐมนตรี พ้นทั้งคณะ ตามมาตรา 167 วรรคหนึ่ง ให้ใช้มาตรา 168 มาใช้ต่อไป
เช็กไทม์ไลน์ ขั้นตอน เลือก “นายกรัฐมนตรี” คนที่ 31 ผ่านสภาผู้แทนราษฎร
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี จะทำหน้าที่ รักษาการนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ยังคงทำหน้าที่เป็น ครม.รักษาการ ซึ่งขณะนี้ นายภูมิธรรม กำลังบินกลับจากประเทศคาซัคสถาน จากนั้น จะเข้าสู่ขั้นตอนการเลือกนายกฯ คนที่ 31 ตามมาตรา 159
อาจารย์ธงทอง โพสต์ข้อความ ระบุขั้นตอนหลัง “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ว่า
1. เมื่อนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี “คณะรัฐมนตรี” ทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย เพราะถือหลักอธิบายว่า รัฐมนตรีทุกคนได้รับการสรรหามาจากนายกรัฐมนตรี เมื่อบุคคลต้นทางพ้นจากตำแหน่งแล้ว ผู้ที่อยู่ในแถวก็ต้องพลอยพ้นไปด้วย
2. แต่ราชการแผ่นดินจะหยุดชะงัก หรือเว้นว่างไม่ได้ รัฐมนตรีในชุดเดิม จึงยังต้องรักษาการต่อไป จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าทำหน้าที่
3. เฉพาะตัวอดีตนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ไม่อาจรักษาการได้ เป็นการพ้นแล้วพ้นเลย คณะรัฐมนตรีส่วนที่เหลืออยู่ ต้องรีบมาประชุมตกลงกัน เพื่อมีมติว่าจะให้รองนายกรัฐมนตรีคนใด เป็นหัวหน้าทีมในระหว่างนี้
4. ในทางการเมืองก็ต้องรีบมีการหารือกันระหว่างพรรคการเมืองทั้งหลาย เพื่อเตรียมการที่จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ วุฒิสภาไม่เกี่ยวข้อง เพราะอำนาจตามบทเฉพาะกาลจบไปแล้ว
5. ผู้ที่จะได้รับเสนอชื่อให้เป็นทางเลือก สำหรับดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองได้เสนอไว้ เมื่อการเลือกตั้งปี 2566 เช่น พรรคเพื่อไทยก็ยังมี นางสาวแพทองธาร และอาจารย์ชัยเกษม พรรคพลังประชารัฐ มีพลเอกประวิตร พรรคภูมิใจไทยมีนายอนุทิน พรรครวมไทยสร้างชาติมีนายพีระพันธ์ ส่วนพรรคก้าวไกลนั้นโดนยุบไปเสียแล้ว นายพิธาก็ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ตัวละครเห็นจะมีอยู่แค่นี้
6. เมื่อได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว จึงค่อยจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต่อไป.