เปิดตำรา “มวยไทย-มวยโคราช” 1 ใน Soft power สร้างชื่อตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาถึงกรุงเทพฯ พร้อมปั้นชิงแชมป์โลก บรรจุในโอลิมปิกปี 2028 ดันเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เตรียมจัดโชว์ไม้เด็ดให้ ครม.สัญจร ชม
TOPPICTime ขอร่วมเชิดชู “มวยไทย” หนึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาศิลปะการต่อสู้ และหนึ่งในอัตลักษณ์ของชาติไทย ที่มีมาตั้งแต่อดีต แม้จะไม่มีการจดบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่าเกิดขึ้นสมัยใด แต่มวยไทย มีการกล่าวถึงในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระเจ้าเสือที่ทรงโปรดปรานฯ และเคยปลอมตัวไปปะฝีมือกับชาวบ้าน และเมื่อครั้งเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2 (สมัยพระเจ้าอังวะ) ให้มีการปะมวยไทย-พม่า นายขนมต้ม ได้สร้างชื่อโดยเอาชนะพม่าได้อย่างราบคาบ ได้รับการยกย่องถึงศักดิ์ศรีคนไทย
เปิดตำรามวยโคราช ดังยาวจนปัจจุบัน
“มวยโคราช” เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวที่อยู่คู่กับเมืองนครราชสีมา (โคราช) มาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
– มวยโคราช ไม่พบหลักฐานว่าเกิดขึ้นในสมัยใด ไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
– สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) การฝึกหัดมวยไทยแพร่หลายไปตามหัวเมืองต่างๆ มวยโคราชมีเอกลักษณ์ด้านลีลาการชกมวยโคราช
– รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแข่งขันชกมวยหน้าพระที่นั่งในงานพระศพของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช (18-21มี.ค.) ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452) ณ ทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง) มีนักมวยฝีมือดีจากทั่วประเทศที่เจ้าเมืองต่างๆ ส่งเข้าแข่งขัน
– รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานสมญานาม “มวยโคราช” ว่า “หนักโคราช” คือ มวยที่มีหมัดหนัก เป็นสายมวยไทยหนึ่งในสี่สายมวยไทยที่ทรงพระราชทานสมญานามให้ใน 4 ภูมิภาคของไทยว่า ‘หมัดหนัก-โคราช’ ‘ฉลาด-ลพบุรี’ ‘ท่าดี-ไชยา’ ‘ไวกว่า-ท่าเสา’
‘หมัดเหวี่ยงควาย’ ไม้เด็ดมวยโคราช
“หมื่น ชงัดเชิงชก” หรือนายแดง ไทยประเสริฐ ลูกศิษย์ของพระเหมสมาหาร เจ้าเมืองโคราช (เป็นหนึ่งในนักมวยไทยที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศและบรรดาศักดิ์) และเป็นนักมวยที่มีชื่อเสียงในการใช้ “หมัดเหวี่ยงควาย” ถือเป็นกลวิธีและอาวุธที่สำคัญของแม่ไม้มวยโคราช โดยเป็นมวยเตะต่อยวงกว้าง ป้องกันตัวเองด้วยการใช้แขนโจมตีไปที่หน้าคู่ต่อสู้ เป็นหมัดชกวงกว้างที่หนักหน่วง จนสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ในหมัดเดียว
มวยโคราช : เป็นศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าโดยใช้อวัยวะของร่างกายให้เกิดประโยชน์ประกอบด้วยมือ เท้า เข่า ศอก เป็นการต่อสู้ป้องกันตัวที่มีความแข็งแรง และดุดันเข้าใจว่าแต่เดิมมวยโคราชเป็นวิชามวย ของทหาร และฝึกฝนไว้รับใช้ชาติ
มวยโคราช จัดโชว์ ครม.สัญจร
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี สัญจร ครั้งที่ 4/2567 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ระหว่างวันที่ 1-2 ก.ค. 2567 จะมีการแสดง Soft Power มวยโคราช ชุด “นาฏยุทธ” ต้อนรับ ครม. เป็นศิลปะการไหว้ครูแบบโบราณท่าแม่ไม้มวยโบราณสายโคราชที่กำลังจะสูญหายจากตำราพระเหมสมาหาร เจ้าเมืองโคราช ซึ่งประกอบด้วย ท่าหมัดเหวี่ยงควาย ล้มพลอยอาย ทัศมาลา ท่าฝึกอยู่กับที่ ท่าทุ่มทับ จับหัก ท่าหนุมานถวายแหวน ท่าฤาษีบดยา ท่าเตะคอขาด ท่าพระรามเดินดง เป็นต้น
ลุ้นบรรจุมวยไทย-มวยโคราช บรรจุแข่งโอลิมปิก
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (26 มี.ค. 67) เห็นชอบเสนอ “มวยไทย” (Muay Thai : Thai Traditional Boxing) เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโกตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ โดยเมื่อ 14 ธ.ค. 2566 องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ขึ้นทะเบียน 4 รายการ (จาก 7 รายการ) ได้แก่ โขน นวดไทย โนรา และสงกรานต์ในประเทศไทย ส่วนอีก 3 รายการ ได้แก่ ต้มยำกุ้ง ผ้าขาวม้า และเคบายา (kebaya) อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของยูเนสโก ล่าสุด มวยไทย ได้รับการรับรองโดย คณะกรรมการโอลิมปิกและพาราลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกา (USOPC) ให้เป็นกีฬาชนิดใหม่อย่างเป็นทางการ ลุ้นว่าจะมีโอกาสได้เป็นหนึ่งในชนิดกีฬา ที่จะบรรจุในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2028 ณ มหานครลอสแอนเจลิส หรือไม่ในอีก 4 ปีข้างหน้า!
ที่มา : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา