สุริยุปราคา เกิดบ่อยเหมือนมีนัย!! ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงนี้ หลายคนบอกว่า เป็นเรื่องปกติของระบบสุริยะ เป็นวงรอบที่เกิดขึ้นแต่ละปี ไม่มีนัยแฝงที่มากไปกว่านี้
ขณะที่ นักดาราศาสตร์ก็ให้ความสนใจกับปรากฎการณ์ “สุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย” ในวันที่ 20 เมษายน 2566 TOPPIC Time มีรายละเอียด มาบอกเล่า
รู้ลึก สุริยุปราคา 20 เมษายน 2566 ราหูอมพระอาทิตย์
เกิดช่วงเช้า เวลา 10.22 – 11.43 น. ของไทย
: สุริยุปราคาครั้งนี้ จะเป็นแบบผสม (สุริยุปราคาวงแหวนและเต็มดวง) เป็นสุริยุปราคา ลำดับที่ 52/80 ชุดซารอสที่ 129 แนวคราสจะเคลื่อนจากมหาสมุทรอินเดีย ไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนใหญ่พาดผ่านมหาสมุทร และแผ่นดินบางส่วนที่เป็นเกาะใหญ่ ๆ อาทิ ออสเตรเลีย ติมอร์ตะวันออก และอินโดนีเซีย (เกาะปาปัวและปาปัวตะวันตก) ตั้งแต่เวลา 09:42 – 12:52 น. (ตามเวลาประเทศไทย)
การเกิดคราสครั้งนี้ ดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังนานที่สุดเพียง 1 นาที 16 วินาที
คราสบังมากสุดทางภาคใต้ 9 จังหวัด
: จังหวัดนราธิวาส (มากที่สุด ร้อยละ 4.06) ยะลา (ร้อยละ 3.22) ปัตตานี (ร้อยละ 2.82) สตูล (ร้อยละ 1.77) สงขลา (ร้อยละ 1.77) พัทลุง (ร้อยละ 0.93) ตรัง (ร้อยละ 0.61) นครศรีธรรมราช (ร้อยละ 0.32) กระบี่ (ร้อยละ 0.01) และรวมถึงบางส่วนของจังหวัดตราด (ร้อยละ 0.02) อุบลราชธานี (ร้อยละ 0.1) และศรีสะเกษ (ร้อยละ 0.01)
- ปรากฎการณ์เกิด “สุริยุปราคา”
สุริยุปราคา คือ?
: เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนเข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ อาจบังทั้งดวงหรือบางส่วนก็ได้
สุริยุปราคาแบบผสม
: เป็นสุริยุปราคาที่เกิดขึ้น 2 ประเภทในครั้งเดียว ได้แก่ สุริยุปราคาวงแหวน และสุริยุปราคาเต็มดวง เนื่องจากโลกมีผิวโค้ง ทำให้แต่ละตำแหน่งบนโลกมีระยะห่างถึงดวงจันทร์ไม่เท่ากัน ผู้สังเกตที่อยู่ไกลจากดวงจันทร์จะเห็นเป็นสุริยุปราคาวงแหวน ในขณะที่ผู้สังเกตที่อยู่ใกล้ดวงจันทร์มากกว่าจะเห็นเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง
สุริยุปราคาบางส่วน
: เกิดจากโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ไม่ได้เรียงอยู่ในแนวเดียวกันพอดี ขณะเกิดสุริยุปราคา ดวงจันทร์จึงบดบังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วน ทำให้มีเพียงเงามัวของดวงจันทร์ทอดผ่านพื้นผิวโลก ผู้สังเกตบนโลกภายในบริเวณที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่านจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บดบังเพียงบางส่วนเท่านั้น
: แนะชมผ่านอุปกรณ์กรองแสง ห้ามดูด้วยตาเปล่า หรือแว่นกันแดดโดยเด็ดขาด เพราะแสงอาทิตย์สามารถทะลุผ่านและทำลายเซลส์ประสาทตาจนตาบอดได้ สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ เตรียมตั้งจุดสังเกตการณ์ ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา 09:00-12:00 น. จะเห็นดวงอาทิตย์ปรากฎเว้าแหว่งมากที่สุด ร้อยละ 1.82 (เวลาประมาณ 11:01 น.) หรือ รับชมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านทางเฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่ https://www.facebook.com/NARITpage
ความเชื่อสุริยุปราคาของชาวบ้าน
: คนโบราณเชื่อว่า สุริยุปราคาเกิดจากความโกรธแค้นของยักษ์ราหูที่มีต่อพระอาทิตย์ จึงหาทางแก้แค้นด้วยการบดบังรัศมี โดยอมพระอาทิตย์ไว้ ทำให้ตะวันดับแสงลง “หากตะวันดับแสงลง โลกจะดับสลายตามไปด้วย”
เหตุนี้ชาวบ้านทุกคนจะต้องช่วยพระอาทิตย์ ด้วยการตีเกราะ เคาะไม้ ให้เกิดเสียงดังเพื่อให้ยักษ์ราหูตกใจหนีไป แต่คนปัจจุบันได้เรียนรู้ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าว เกิดจากดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ไว้เท่านั้น แค่ช่วงเวลาหนึ่ง ไม่นานก็จะคลาย ดั่งเรื่องดี เรื่องร้าย อยู่ได้ไม่นานก็จะไป เช่นกันจ้า!!