ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร หากปีนี้ใครยังไม่ได้ไปกราบสักการะขอพร เสาหลักเมือง แนะนำให้ไปด่วนๆ จ้า เพราะเพิ่งขึ้นปีใหม่ไทยมาไม่กี่วัน ไปขอพร การงาน ความสำเร็จ ความมั่นคงที่นี่ได้เลย ลี้แต่ไม่ลับ จะพาทุกคนไปกราบไหว้เสาหลักเมืองด้วยกัน พร้อมกับไขปริศนาว่า ทำไม เสาหลักเมือง หรือ องค์พระหลักเมือง ถึงมี 2 หลัก แต่ก่อนอื่น…ไปรู้จัก ศาลหลักเมือง กันก่อน
รู้จัก ศาลหลักเมือง สักการะ เสาหลักเมือง แห่งกรุงเทพ
ที่มา ศาลหลักเมือง เสาหลักเมือง กรุงรัตนโกสินทร์
ศาลหลักเมือง เป็นศาลที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี หลังจากที่ย้ายเมืองหลวงมาจากฝั่งตะวันตก มายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ว่า ก่อนที่จะสร้างเมือง จะต้องทำพิธียก เสาหลักเมือง ในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น
ศาลหลักเมือง สมัยรัชกาลที่ 1
ศาลหลักเมือง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2325 ในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธียก เสาหลักเมือง ขึ้น เป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์ มีไม้แก่นจันทน์ประกับนอก ยอดเสารูปบัวตูม ภายในเป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชะตาเมือง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2325 ณ ชัยภูมิใจกลางพระนครใหม่ ที่พระราชทานนามว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” หรือเรียกต่อกันมาว่า “กรุงเทพมหานคร” สถิตสถาพรเป็นมิ่งขวัญประชาชนชาวไทย
โหรหลวง ถวายชะตาดวงเมือง
ประวัติที่เล่ากันมา ในครั้งนั้นโหรหลวงได้ถวายดวงเมืองให้รัชกาลที่ 1 เลือก 2 แบบ คือ แบบแรกหรือแบบที่ 1 บ้านเมืองจะสงบสุข เจริญรุ่งเรือง แต่ต้องแลกกับการตกเป็นเมืองขึ้นสักระยะหนึ่ง และแบบที่ 2 คือมีแต่เรื่องยุ่งวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุด แต่จะสามารถรักษาเอกราชได้ตลอดไป ซึ่งเล่ากันต่อมาว่าพระองค์ทรงเลือกแบบที่ 2
ศาลหลักเมือง สมัยรัชกาลที่ 4
ต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา เสาหลักเมือง ต้นใหม่ แทนต้นเดิมที่ชำรุดไปตามกาลเวลา และเนื่องจากตรวจพบว่า เสาต้นแรกเป็นอริกับลัคนาดวงเมือง จึงให้เสาหลักเมืองใหม้ เป็นเสาไม้สักเป็นแกนอยู่ภายในประกับด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ยอดเม็ดทรงมัณฑ์ พร้อมผูกดวงชาตาพระนครขึ้นใหม่ เพื่อให้ประเทศชาติ และประชาชนชาวไทยทั้งหลาย ที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ประสบความเจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวรยิ่งขึ้น
ศาลหลักเมือง ในสมัยรัชกาลที่ 9
ในปี พ.ศ. 2525 รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนิน ณ ศาลหลักเมือง ในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหานครตามโบราณราชประเพณี และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการดำเนินการปรับปรุงศาลหลักเมืองให้มีความงดงามบริบูรณ์ สมกับเป็นที่สถิตแห่งองค์พระหลักเมือง และให้เชิญ เสาหลักเมือง ต้นเดิม ไปประดิษฐานไว้คู่กับเสาหลักเมืองต้นปัจจุบัน
พิธีสมโภช พระหลักเมือง
เมื่อบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จสมบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีสมโภชพระหลักเมือง ณ วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม 2529ในการนี้ คณะกรรมการดำเนินการปรับปรุง ศาลหลักเมือง ได้กราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์การดำเนินงานปรับปรุงศาลหลักเมือง รวมทั้งได้สร้างศาลเทพารักษ์ เพื่อเป็นที่สถิตแห่งเทพารักษ์ทั้ง 5 ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง และอาคารหอพระพุทธรูปขึ้นอีกด้วย
ใครคือผู้ดูแล ศาลหลักเมือง
ศาลหลักเมือง มีพื้นที่อยู่ในอาณาบริเวณของกระทรวงกลาโหม โดยเริ่มแรกในปี 2480 กระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้ กรมเชื้อเพลิง เป็นผู้ดูแล เมื่อกรมเชื้อเพลิงถูกยุบภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทรวงกลาโหม จึงมอบให้ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เป็นผู้ดูแลตั้งแต่ปี 2491 โดยองค์การฯ ได้กำหนดให้ “สำนักงานกิจการศาลหลักเมือง” ซึ่งเป็นหน่วยงานกิจการพิเศษขององค์การฯ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบศาลหลักเมือง
รู้ลึก 5 เทพารักษ์ เสาหลักเมือง ดูแลชะตาคนเมือง
พระเสื้อเมือง
“พระเสื้อเมือง” เป็นรูปหล่อสัมริดปิดทอง ทรงยืนบนฐานสิงห์ พระเศียรทรงมกุฏยอดชัย พระหัตถ์ซ้ายท้าวที่บั้นพระองค์ทรงคฑาวุธ (กระบอง) พระหัตถ์ขวาทรงจักราวุธ
– พระเสื้อเมือง เป็นเทพารักษ์คุ้มครองป้องกันทั้งทางบก ทางน้ำ คุมกำลังไพร่พลแสนยากร รักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขปราศจากศัตรูมารุกราน
พระทรงเมือง
“พระทรงเมือง” เป็นรูปหล่อสัมริดปิดทอง ทรงยืนบนฐานปัทม์ ยอดทรงมกุฏท่อนบนเป็นแบบเดินหน ซึ่งหมายถึงเสด็จจรไปตรวจตราปกป้องคุ้มครองภัยทั่วประเทศ พระหัตถ์ซ้ายท้าวที่บั้นพระองค์ทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ขวาทรงสังข์
– พระทรงเมือง มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเปรียบได้กับฝ่ายปกครอง ซึ่งต้องเปี่ยมด้วยพระคุณ คือ ความเมตตา ละมุนละม่อม เป็นแนวทางปฏิบัติ เสมือนสังข์ที่ทรง ซึ่งมีความหมายไปในทางคุณธรรม
พระกาฬไชยศรี
“พระกาฬไชยศรี” เป็นรูปหล่อสัมริดปิดทอง มี 4 กร ประทับบนหลังนกแสก ซึ่งเกาะอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมปิดทอง พระเศียรทรงมกุฏยอดชัย พระหัตถ์ขวาบน ยกเสมอพระอังสาถือชวาลา คือดวงวิญญาณ เปรียบดังธาตุไฟในร่างกายคนเรา ซึ่งหากแตกดับลงเมื่อใดก็เท่ากับสิ้นชีวิต ดวงวิญญาณออกจากร่างแล้วนั่นเอง และที่เห็นเป็นรูป 3 แฉกมีความหมายถึง ความตาย นั้นย่อมเกิดขึ้นได้ โดยไม่กำหนดว่าจะเป็นปฐมวัย มัชฌิมวัย หรือปัจฉิมวัยก็ตาม
– พระหัตถ์ขวาล่างกุมพระขรรค์ แทนปัญญาอันแหลมคม สำหรับพิจารณาตัดสินปัญหา ตลอดจนแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้อง ซึ่งพระขรรค์นี้เป็นอาวุธประจำองค์ของเทพยดาหรือผู้มีบุญญาธิการทั่วไป พระหัตถ์ซ้ายบนถือเชือกบาศ สำหรับคล้องมัดปราณของมนุษย์ผู้ถึงฆาต ส่วนพระหัตถ์ซ้ายล่าง ทรงแสดงกิริยาตักเตือนสั่งสอนมิให้กระทำความชั่วร้าย
เจ้าเจตคุปต์
“เจ้าเจตคุปต์” เป็นรูปแกะสลักด้วยไม้ ประทับยืนบนแท่นสี่เหลี่ยม พระเศียรทรงมกุฏยอดชัย พระหัตถ์ประดับทองพระกร โดยพระหัตถ์ขวาทรงจักราวุธเทพคือเหล็กจาร พระหัตถ์ซ้ายถือใบลานอัครสันธานา สำหรับจดความชั่วร้ายของชาวเมืองที่ตายไป
– ตำนานมีว่า เจ้าเจตคุปต์ เป็นบริวารพระยม และมีหน้าที่อ่านประวัติผู้ตายเสนอพระยม
เจ้าหอกลอง
“เจ้าหอกลอง” เป็นรูปหล่อสำริดปิดทอง พระเศียรทรงมกุฏยอดชัย ทรงยืนบนแท่นแปดเหลี่ยม พระหัตถ์ยกชูขึ้นเสมอพระอุระ พระหัตถ์ขวาถือดอกบัว ซึ่งแทนความหมายของธรณี (แผ่นดิน) พระหัตถ์ซ้ายถือเขาสัตว์ สำหรับใช้เป่าเป็นสัญญาณเรียกไพร่พล ให้เข้ามาประจำหน้าที่ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติในสมัยโบราณ
– เจ้าหอกลอง เป็นเทพารักษ์ประจำหอกลอง มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเหตุการณ์ต่างๆ อันเกิดขึ้นในแผ่นดิน เช่น คอยรักษาเวลา ย่ำรุ่ง ย่ำค่ำ และเที่ยงคืน เกิดเหตุอัคคีภัย หรือมีอริราชศัตรูยกมาประชิดพระนคร
วิธีไหว้ เสาหลักเมือง ศาลหลักเมือง ที่ทำให้เฮงๆ ปังๆ
สำหรับสิ่งของที่ใช้ในการสักการะ เสาหลักเมือง เราสามารถเตรียมไป หรือไปซื้อกับทางศาลได้ โดยเขามีให้ครบเซ็ตเลย ชุดละ 60 บาท
สิ่งของที่ต้องเตรียม การไหว้ ศาลหลักเมือง
– ธูป 3 ดอก
– เทียน 1 เล่ม
– ทองคำเปลว
– ดอกบัว
– ผ้าแพร 3 สี
– พวงมาลัย
– น้ำมันเติมตะเกียง
ขั้นตอนการไหว้ เสาหลักเมือง ให้ร่ำรวย ที่ ศาลหลักเมือง กรุงเทพ
1. หอพระพุทธรูป
ให้เรานำ ดอกบัว ขึ้นไปสักการะพระพุทธรูปก่อน บอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ ศาลหลักเมือง ก่อนนะคะ จากนั้นก็ไปทำบุญใส่บาตรพระประจำวันเกิด ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้ตัวเอง และช่วยหนุนดวงเสริมให้เกิดความมั่นคงในชีวิต
สำหรับจุดนี้มี “พระพุทธรูปเสี่ยงทาย” ซึ่งเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์และแม่นยำมาก วิธีการเสี่ยงทายนั้น ให้ตั้งจิตอธิษฐานให้เป็นสมาธิ กล่าวนะโม 3 จบ ระลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในศาลหลักเมือง โดยยกพระเสี่ยงทาย ยกครั้งที่ 1 ให้อธิษฐาน และระบุว่า…หากเรื่องประสบความสำเร็จ ขอให้ยกองค์พระขึ้น จากนั้นให้ยกพระเสี่ยงทายครั้งที่ 2 แล้วให้อธิษฐานเรื่องเดิม และขอให้ยกองค์พระนี้ไม่ขึ้น ถ้าเป็นแบบนี้ ก็ถือว่า…เรื่องนั้นสำเร็จค่ะ
2. ศาลาจำลอง
ณ จุดนี้ ให้เราถวายธูปและเทียน สำหรับที่นี่ไม่ต้องจุดธูปนะคะ ตั้งนะโม 3 จบ และกล่าวคำอธิษฐาน ขอพร…
“ศรีโรเม เทพเทวานัง พระหลักเมืองเทวานัง พระภูมิเทวานัง ทีปธูปจะบุปผัง สักการะวันทนัง สูปพยัญชนะ สัมปันนัง สารีนัง อุททะกัง วะรัง เตปิตุมเห อานุรักษ์ขันตุ อาโรขเยนะ สุเขนะจะ”
ก่อนวางธูปเทียนให้ดึงแผ่นทองเปลว ออกจากก้านธูปก่อนนะคะ แล้วนำไปติดที่พระพุทธโสธร พระพิฆเนศ หรือที่พระคลังมหาสมบัติ อันนี้เคล็ดลับแห่งความรวยนะคะ แอบบอก…
แล้วนำพวงมาลัยไปไว้ที่จุดแขวนพวงมาลัย แล้วไปผูกผ้าแพรที่ เสาหลักเมืองจำลอง หลักใดหลักหนึ่งก็ได้ค่ะ ทำไมต้องผูกผ้า 3 สี เพราะสมัยโบราณมีความเชื่อว่า ตามต้นไม้มักจะมีรุกขเทวดาอาศัยอยู่ ชาวบ้านที่เคารพก็มักจะเอาผ้าสีมาผูก แล้วเสาหลักเมืองก็ทำมาจากไม้ เราจึงยึดถือธรรมเนียมประเพณีมาแต่โบราณ จึงเปิดให้มีการผูกผ้าที่องค์จำลองแทน
3. ศาลหลักเมือง
ที่นี้ไปที่ ศาลหลักเมือง ให้เราตั้งจิตตั้งใจ ตั้งสมาธิให้ดี ตั้งนะโม 3 จบ และกล่าวคำอธิษฐาน ขอพร อีกครั้งค่ะ…
“ศรีโรเม เทพเทวานัง พระหลักเมืองเทวานัง พระภูมิเทวานัง ทีปธูปจะบุปผัง สักการะวันทนัง สูปพยัญชนะ สัมปันนัง สารีนัง อุททะกัง วะรัง เตปิตุมเห อานุรักษ์ขันตุ อาโรขเยนะ สุเขนะจะ”
ขอเลยค่ะ ขอกับเสาหลักเมือง เสาหลักเมือง รัชกาลที่ 1 มียอดเสาเป็นรูปบัวตูม ส่วนเสาหลักเมือง รัชกาลที่ 4 ยอดเสาเป็นยอดเม็ดทรงมัณฑ์
4. ศาลเทพารักษ์
ศาลเทพารักษ์ทั้ง 5 องค์ ให้เรานำพวงมาลัยถวายแก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง ซึ่งเทพารักษ์ทั้ง 5 ดูแลปกป้องบ้านเมืองในด้านการเมือง การปกครอง อริราชศัตรู และเหตุเภทภัยที่เกิดกับบ้านเมืองให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุขสงบร่มเย็น
5. จุดเติมน้ำมันตะเกียง
สุดท้ายคือ การเติมน้ำมันตะเกียง ให้เราเติมน้ำมันตะเกียง กับพระประจำวันเกิดของเรา โดยเติมกับพระประจำวันเกิดครึ่งขวด เพื่อให้ชีวิตมีแสงสว่าง มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง แล้วอีกครึ่งขวดให้เติมลงไปในอ่างสะเดาะเคราะห์ เพื่อเป็นการขจัดความทุกข์ สิ่งไม่ดีออกไปจากชีวิตจ้า
สำหรับใครที่สมความปรารถนา จากการขอพร จาก เสาหลักเมือง ที่ ศาลหลักเมือง แห่งนี้ ลี้แต่ไม่ลับ แนะนำให้ถวายละครรำ ที่อยู่ในศาลได้นะ เขามีให้บริการ เริ่มต้นที่เที่ยวละ 400 บาทจ้า.