พระแม่ลักษมี หรือ พระศรีลักษมีเทวี เทวีแห่ง ความรัก โชคลาภ ความมั่งคั่งร่ำรวย ความงดงาม และความอุดมสมบูรณ์ สาวโสดคนไหน ต้องการขอพรความรัก ลี้แต่ไม่ลับ ขอแนะนำให้ไปขอพรในวันพรุ่งนี้ 25 ส.ค. 66 ซึ่ง 1 ปีมีครั้งเดียว เพราะถือเป็นวันมงคลสำคัญทางศาสนาฮินดู คือ “วันวาราลักษมี วรัทตัม” วันขอพรและบูชาพระแม่ลักษมีตามปฏิทินฮินดู ซึ่งทุกปีจะมักจะตรงกับวันศุกร์ ก่อนจะถึงวันเพ็ญเดือนศรวณะ และจะอยู่ในราวช่วงเดือน ก.ค. หรือ ส.ค. ก่อนจะบูชา ลี้แต่ไม่ลับ จะพาไปรู้จัก ประวัติและตำนานพระแม่ลักษมีกันก่อน
ประวัติ พระแม่ลักษมี ตำนานแห่งเทวีความรัก
พระลักษมี เป็นเทวีในศาสนาฮินดู เป็นเจ้าเทวีแห่งความมั่งคั่ง โชคลาภ และความเจริญรุ่งเรือง โดยเป็นชายาและศักดิ (พลัง) ของพระวิษณุ ซึ่งถือเป็นเทวีพระองค์หนึ่งใน “ตรีเทวี” ขณะที่อีก 2 องค์เทวี คือ พระปารวดี และพระสุรัสวดี
พระลักษมี ในศาสนาอื่น
นอกจากในฮินดูแล้ว ยังพบการบูชา พระลักษมี เป็นเทพเจ้าองค์สำคัญองค์หนึ่งในศาสนาเชน ศาสนาพุทธแบบทิเบต เนปาล และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีการนับถือพระโพธิสัตว์พระนามว่า พระวสุธารา ซึ่งมีพระลักษณะคล้ายคลึงกับพระลักษมีอย่างมาก แตกต่างเพียงลักษณะเชิงประติมานวิทยาบางส่วนเท่านั้น
พระลักษมี ตามตำนานศาสนาฮินดู
ตามตำนานของศาสนาฮินดู เชื่อกันว่า พระองค์เกิดจากมหาสมุทร จากการกวนมหาสมุทร เมื่อครั้งสร้างโลก (เกษียรสมุทร) และได้เลือกพระวิษณุเป็นพระสวามีนิรันดร์ เมื่อพระวิษณุได้อวตาร เป็นพระราม พระแม่ลักษมี ก็ได้อวตารตามไปเป็นนางสีดา และเมื่อพระวิษณุอวตารเป็นพระกฤษณะ พระแม่ลักษมี ก็อวตารเป็น “พระแม่ราธา” หรือ “พระรุกมิณี” ในปางปรศุรามาวตาร ก็ไปอวตารเป็น “พระแม่ธรณี” ในปางวามนาวตารก็อวตารไปเป็น “พระนางกมลา” เป็นต้น
พระลักษมี แบบอย่างพิธีกรรมการแต่งงานแบบฮินดู
ส่วนในบันทึกโบราณของอินเดีย มักถือให้สตรีทั้งปวง เป็นรูปแปลงของ พระลักษมี การสมรสและความสัมพันธ์เชิงสามีภรรยาของพระลักษมีและพระวิษณุ ถือเป็นแบบอย่างในพิธีกรรมต่างๆ ของการแต่งงานแบบฮินดู
พระลักษมี เทวีแห่งความงดงาม หรูหรา เครื่องประดับแน่น
ในศิลปะอินเดีย พระลักษมี ทรงเครื่องแต่งกายอย่างงดงาม หรูหรา ประดับด้วยเครื่องประดับต่างๆ โดยมีผิวกายสีทองอร่าม และมีพาหนะเป็นนกฮูก พระองค์ประทับในท่าทางแบบโยคะ ทั้งนั่งและยืน บนฐานดอกบัว และมีดอกบัวในหัตถ์ อันเป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภ การเข้าใจตัวเอง และการเป็นอิสระเชิงจิตวิญญาณ ประติมานวิทยาของพระองค์มักแสดงพระองค์มี 4 กร อันแสดงถึงปุรุษารถะ หรือเป้าหมายในชีวิตทั้ง 4 ประการ คือ ธรรม กาม อรรถะ และโมกษะ
บูชาพระลักษมี มีหลักฐานมา 1 สหัสวรรษก่อนคริสตกาล
ว่ากันว่า…หลักฐานเชิงโบราณคดีแสดงให้เห็นว่า มีการ บูชาพระลักษมี มีมาตั้งแต่หนึ่งสหัสวรรษ หรือ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล เทวรูปต่างๆ ของพระองค์ยังพบในโบราณสถานต่างๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อายุราวครึ่งคริสต์สหัสวรรษแรก
รวมสถานที่ขอพร พระแม่ลักษมี
1. วัดแขก สีลม
2. ตึกเกษรวิลเลจ ชั้น 4
3. วัดเทพมณเฑียร เสาชิงช้า ฝั่งสวนรมณีนาถ ชั้น 3
4. เซ็นทรัลลาดพร้าว
5. วัดวิษณุ สาทร
วิธีไหว้ขอ พระแม่ลักษมี
1. ดอกบัวสีชมพูสด 8 ดอก พับให้สวยงามด้วยความตั้งใจ
2. ธูป 8 ดอก หรือกำยาน 1 อัน
3. ผลไม้ มะพร้าว กล้วยน้ำว้า หรือขนมหวานสีสันสดใส
4. นมจืดหรือนมสีชมพู
5. เน้นถวายของที่มีสีชมพู ห้ามถวายเนื้อสัตว์ทุกชนิด
บทสวดบูชา “พระแม่ลักษมี”
ลี้แต่ไม่ลับ แนะนำให้ท่อง โอม ศรี คเณ ศายะ นะมาฮา (3 จบ) เพื่อบูชาพระพิฆเนศก่อนขอพรเทพองค์อื่นๆ
โอม ชยะ ศรี ลักษมี มาตา (3 จบ)
โอม ศรี ลักษะมิไย นะมะห์ (3 จบ)
โอม มหาลักษะ มิไย นะโม นะมะห์
โอม วิษณุ ปรียาไย นะโม นะมะห์
โอม ธะนะ ประทาไย นะโม นะมะห์
โอม วิศวา จะนันไย นะโม นะมะห์
ยา เทวี สะระวะ ภูเตชุ ลักษมี รูเปนะ สัม สะถิตา
นะมัส ตัสไย นะมัส ตัสไย นะมัส ตัสไย นะโม นะมะห์
ลี้แต่ไม่ลับ ขออวยพร ให้ทุกคนสมหวังในความรัก ขอให้ได้พบเจอคู่แท้ และมีความสุขสมหวัง รักใคร่ปรองดอง หากครอบครัวไหนกำลังรู้สึกรักไม่ราบรื่น แนะให้ขอพรกับ พระแม่ลักษมี ในวันพรุ่งนี้เลยจ้า