ความฉลาดทางอารมณ์ ทำให้ทุกอย่างดีขึ้นจริงหรือไม่? ในโลกการทำงานที่เต็มไปด้วยความเคร่งเครียด ความรับผิดชอบ และแรงกดดัน ไม่แปลกเลยที่มนุษย์เงินเดือนมากมายจะรู้สึก ‘โกรธ’ ‘เศร้า’ ‘ท้อ’ ‘กลัว’ หรือ ‘หมดไฟในการทำงาน’ อยู่ตลอดเวลา แต่เรามักบอกกับตัวเองว่า “ห้ามโกรธ” “ห้ามเศร้า” หรือ “ห้ามท้อ” เพราะกลัวว่าอารมณ์ด้านลบเหล่านี้ จะลดทอนคุณภาพการทำงานของตัวเอง แต่การที่เราบิดเบือน หรือปฏิเสธการรับรู้ความรู้สึกเชิงลบของตัวเอง ไม่ได้ช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น การยอมรับและเรียนรู้วิธีจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีคิด และการแสดงออก จึงเป็นวิธีที่ช่วยให้เรารับมือกับอารมณ์ด้านลบ พร้อมเปลี่ยนเป็นพลังงานด้านบวกได้ดีกว่า
ความฉลาดทางอารมณ์ มีผลกับมนุษย์เงินเดือน
“อริญญา เถลิงศรี” กรรมการผู้จัดการ SEAC ผู้นำด้านการพัฒนาองค์กรและบุคลากร เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต กล่าวว่า “Daniel Goleman นักจิตวิทยาผู้เขียนหนังสือเรื่องทฤษฎี Emotional Intelligence (1995) อันโด่งดัง ได้กล่าวไว้ว่า การมี EQ ในการทำงาน จะสามารถช่วยลดทอนอาการหัวร้อนได้เป็นอย่างดี เพราะความฉลาดทางอารมณ์นั้น นอกจากจะมีอิทธิพลต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานแล้ว ยังมีผลต่อการจัดการความเครียด และความขัดแย้งภายในหมู่พนักงานได้อีกด้วย ซึ่งความฉลาดทางอารมณ์ อาจฟังดูเหมือนสิ่งที่ต้องมีติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ความจริงแล้ว เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถพัฒนาได้”
ความฉลาดทางอารมณ์ คือ?
ซึ่ง Emotional Intelligence (EQ) หรือความฉลาดทางอารมณ์ ก็หมายถึง ความสามารถในการตระหนัก และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก ของทั้งตัวเองและคนอื่น พูดง่ายๆ คือคนที่มี EQ สูง จะสามารถแยกแยะได้ว่า ตัวเองกำลังมีอารมณ์แบบไหน (Self-Awareness) จะแสดงอารมณ์อย่างไร (Self-Management) รับรู้ว่าคนรอบตัวรู้สึกอะไร (Social Awareness) และรู้ว่าควรจะเข้าหาคนอื่นอย่างไร (Relationship Management) ซึ่งจะช่วยพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
หากไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน เราขอแนะนำให้เริ่มจาก การตระหนักถึงความรู้สึกของตนเองก่อน เพราะ Self-Awareness ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ วิธีการก็ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่คุณถามตัวเองว่าตอนนี้คุณกำลังรู้สึกอย่างไร อะไรทำให้คุณรู้สึกอย่างนั้น การหาที่มาที่ไปของอารมณ์ จะทำให้คุณรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง และหาทางจัดการกับมันได้ดีขึ้น
เพื่อช่วยให้ทุกคนก้าวผ่านความรู้สึกแย่ๆ พร้อมเปลี่ยนอารมณ์เชิงลบ ให้กลายเป็นแรงผลักดันในการทำงาน ครั้งนี้ YourNextU ได้หยิบเอาเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ที่จะช่วยเพิ่มทักษะความฉลาดทางอารมณ์จากหลักสูตร Emotional Intelligence ของเรามาฝากกัน มาเปลี่ยนพลังงานลบเป็นแรงฮึดด้วย Emotional Intelligence ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย
3 ทักษะเพิ่ม ความฉลาดทางอารมณ์ เปลี่ยนเป็นพนักงานที่โดดเด่น
1. เช็คอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
ก่อนที่เราจะเริ่มต้นการบริหารและจัดการอารมณ์ของตัวเอง เราต้องเรียนรู้ที่จะสำรวจอารมณ์ของตัวเองในแต่ละช่วงเวลาเสียก่อน ลองเริ่มจากการตั้งคำถามง่ายๆ อย่าง “ตอนนี้ฉันกำลังรู้สึกอย่างไร?” ให้ตัวเอง คำตอบที่ได้ไม่จำเป็นต้องจำกัดความ ให้อยู่ที่สุขหรือทุกข์เสมอไป อาจใช้คำอธิบายง่ายๆ เช่น รู้สึกไม่มีแรง รู้สึกไม่สบายตัวหรือไม่สบายใจ เป็นต้น หลังจากนั้นจึงเอาความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้งหมด มาประกอบกันเหมือนจิ๊กซอว์ วิธีนี้จะช่วยให้เรามองเห็นภาพของอารมณ์อันซับซ้อนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
2. ค้นหาที่มาของอารมณ์
เมื่อเราพอจะเห็นภาพและเข้าใจความรู้สึกที่เกิดขึ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปให้เราลองขุดค้นลงไปว่า มีตัวปะทะใดที่เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เราเกิดอารมณ์ ซึ่งในบางครั้งอารมณ์อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุประกอบกัน เช่น เรารู้สึกหงุดหงิดจนโมโห และพูดจาไม่ดีใส่เพื่อนร่วมงาน แต่สาเหตุอาจไม่ได้มาจากเพื่อนร่วมงาน ที่ทำงานช้าไม่ทันใจเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากความหงุดหงิด ที่ถูกเจ้านายตำหนิเมื่อตอนเช้ารวมอยู่ด้วย เป็นต้น เมื่อเราเข้าใจสาเหตุที่แท้จริง ที่ทำให้เกิดอารมณ์ เราก็จะสามารถบริหารจัดการอารมณ์ที่เกิดได้ง่ายขึ้น
3. ปรับเปลี่ยนมุมมอง สร้างการแสดงออกเชิงบวก
ขั้นตอนนี้ คือขั้นตอนที่สำคัญที่สุด!! และอาจเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดด้วย!! เพราะในขั้นตอนนี้เราจะต้องต่อสู้กับความคิดของตัวเอง เพื่อเปลี่ยนการแสดงออกที่เกิดจากอารมณ์เชิงลบ ให้กลายเป็นพลังบวก เช่น เปลี่ยนความกลัวให้เป็นความไม่ประมาท เปลี่ยนความโกรธเป็นพลังในการพิสูจน์ตัวเอง เป็นตัน
สมมติว่าเราถูกเจ้านายตำหนิเพราะทำงานพลาด เราโกรธมากจนตัดสินใจลาออก โดยหวังว่าจะได้เอาคืนเจ้านายที่ต่อว่าเรา คิดเอาเองว่าเขาจะต้องรู้สึกเสียใจ ที่ทำแบบนั้นกับเรา จนลืมคิดไปว่า หากลาออกแล้วคนที่บ้านอาจต้องลำบากไปด้วย กลับกันหากเรารู้ทันอารมณ์ของตัวเองและมีสติไตร่ตรองเหตุผล เราอาจเปลี่ยนการตัดสินใจจากการลาออก ให้กลายเป็นแรงผลักดัน เพื่อพิสูจน์ตัวเองให้หัวหน้าได้ยอมรับ และชื่นชมผลงานของเราให้ได้ แม้จะมีจุดเริ่มต้นจากความโกรธเหมือนกัน แต่เมื่อคิดในมุมที่ต่าง และเลือกตัดสินใจในแบบที่ส่งผลดีกับตัวเอง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็จะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
เมื่อเราเข้าใจอารมณ์ที่เกิด รู้เท่าทันความรู้สึกของตัวเอง และสามารถเลือกแสดงออกเชิงบวกได้ นั่นหมายความว่า เราได้พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ของตัวขึ้นไปอีกขั้น รู้หรือไม่ว่ากว่า 76% ของพนักงานที่โดดเด่นและได้รับการสนับสนุนอยู่เสมอ คือพนักงานที่มุ่งมั่นพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ของตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะทักษะนี้ทำให้พวกเขาสามารถรับมือกับความเครียด แรงกดดัน และแก้ปัญหาได้ดีกว่าปกติ
ฝึกตัวเองให้เป็นเพื่อนร่วมงานที่ฉลาดทั้งความคิดและอารมณ์ จนไม่ว่าใครก็อยากร่วมงานด้วย เริ่มต้นกับ Emotional Intelligence ที่ YourNextU ได้แล้ว ที่นี่