Comfort Zone ที่ที่ปลอดภัยที่สุด แต่อาจไม่ได้ดีเสมอไป เพราะการศึกษาในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จในชีวิต ยิ่งในโลกวันนี้ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อายุของความรู้ก็หมดลงเร็วเช่นกัน จากเดิมที่ความรู้หรือทักษะหนึ่งจะสามารถใช้ได้ไปอีก 10-20 ปี แต่วันนี้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาเพียงสองสามปีกลับนำมาใช้งานจริงไม่ได้
อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง SEAC กล่าวว่า “มนุษย์เราพัฒนาอะไรก็ได้ ซึ่งไม่ได้ผ่านจากการเข้าเรียนเท่านั้น และไม่ได้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานครอบครัว การศึกษา หรือใบปริญญา แต่เกิดจากความทุ่มเท ตั้งใจและไม่ย่อท้อในการแสวงหาสิ่งนั้นๆ เราสามารถเรียนรู้ได้ คนสามารถพัฒนาได้ด้วยตัวของเขาเอง หนึ่งใน Mindset ที่จะทำให้เราสามารถแข่งขันกับคนอื่นได้อย่างไม่เป็นรองใครในยุคนี้ คือ Mindset ที่จะกล้าออกจาก comfort zone ของตัวเอง เพราะบ่อยครั้งไม่ใช่ว่าเราไม่รู้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เรารู้แล้ว แต่เราไม่ลงมือทำ”
แล้วแนวทางไหนที่จะพาไปสู่ความก้าวหน้าและความสำเร็จได้ล่ะ? หนึ่งในกรอบความคิดหรือ Mindset ที่ส่งผลให้เกิดนิสัยแห่งความสำเร็จคือ Growth Mindset ที่เหล่าคนที่ประสบความสำเร็จระดับโลกส่วนใหญ่มีทั้งนั้น เพราะต่างกล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ แม้ต้องผ่านอุปสรรค เจอกับความยากลำบาก แต่ก็สามารถพาตัวเองก้าวข้ามผ่านความกลัวมาได้ด้วยความกล้า
ความกลัวเป็นเรื่องธรรมชาติและเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ผลักดันการเติบโตของตัวเรา ทุกๆ ครั้งที่เราเลือกที่จะก้าวออกจากพื้นที่ที่เราคุ้นชิน และออกไปลองทำในสิ่งที่ยังไม่เคยทำเพื่อขยายความเก่งไปในเรื่องอื่น ซึ่งการพัฒนาความเก่งในเรื่องใหม่นี้ก็คือการขยาย Comfort Zone ซึ่งโดยทั่วไป คนเรามักไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เพราะกังวลและไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไรหากต้องเปลี่ยนแปลงหรือทำสิ่งใหม่
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ผลลัพธ์ในครั้งแรกๆ อาจจะไม่เป็นไปตามที่หวัง แต่หากเราฝึกฝนพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนสามารถทำในสิ่งใหม่ได้ดี ก็เท่ากับว่าเราประสบความสำเร็จในการขยายพื้นที่ comfort zone แล้ว ดังที่เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ (Benedict Cumberbatch) กล่าวว่า “ยิ่งพาตัวเองออกจาก comfort zone มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความท้าทายมากเท่านั้น แต่นี่แหละคือสีสันของชีวิตที่แท้จริง” ดังนั้น จงอย่ากลัวที่จะพัฒนาขีดความสามารถของตัวคุณ โดยเริ่มต้นก้าวไปข้างหน้า ด้วย 4 แนวทาง ดังต่อไปนี้
How To 4 ตัวช่วยพาตัวเองก้าวออกจาก Comfort Zone
1. เผชิญหน้ากับความกลัว และกล้าทำในสิ่งที่คุณกลัวในทุกๆ วัน
ความกลัวจะถูกลดหรือหายไปเมื่อเราเรียนรู้ที่จะเผชิญหน้า บางคนกลัวที่จะพูดในที่สาธารณะ กลัวที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการรับโปรเจคใหม่ หรือการเปลี่ยนงานใหม่ ลองคิดถึงสิ่งที่ทำให้เรากลัวและลดทอนศักยภาพในตัวเรา จากนั้นตั้งเป้าจัดการกับความกลัวนี้ และเมื่อไหร่ที่เราเอาชนะความกลัวเหล่านี้ได้ แม้เป็นความสำเร็จเล็กๆ แต่ก็อย่าลืมให้รางวัลตัวเอง
อิลินอร์ รูสเวลต์ (Eleanor Roosevelt) สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “ทำสิ่งที่กลัวสักวันละหนึ่งอย่าง” คุณอาจต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการทำเรื่องนี้ แต่หากคุณทำได้ จะเป็นการเปิดทั้งโอกาสใหม่ๆ มิตรภาพใหม่ๆ ให้กับชีวิตคุณ ขอให้เริ่มต้นเขียนลิสต์ 3 รายการความท้าทายที่จะทำออกมาในช่วงต้นสัปดาห์ และท้าทายตัวคุณในการค่อยๆ ทำวันละอย่างตลอดสัปดาห์นั้น สนุกไปกับความท้าทายเหล่านั้นและคุณจะสัมผัสได้ถึงสิ่งดีๆ ที่เข้ามาในชีวิต
2. เดินหน้าสู่เป้าหมายอย่างกล้าหาญ
บางครั้งพวกเราจำเป็นต้องโยนหมวกข้ามกำแพงและลองเสี่ยงดูสักครั้งเพื่อผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่ ตัวอย่างเช่น หลายคนมีความฝันที่จะออกจากงานประจำในบริษัทเพื่อที่จะทำตามงานอาชีพที่ตัวเราชอบและมี passion สิ่งสำคัญคือการตั้งเป้าหมายด้วยเทคนิค S.M.A.R.T กล่าวคือ เป้าหมายที่ดีจะต้องเฉพาะเจาะจง สามารถวัดได้ ต้องอ้างอิงบนความเป็นจริงเพื่อให้สามารถบรรลุได้ สอดคล้องกับตัวเราและมีกรอบระยะเวลาที่แน่นอนและชัดเจน
ตัวอย่างเช่น ฉันจะลาออกจากงานประจำในวันที่ 1 กันยายน 2020 เพื่อที่จะทำตามความฝันในการเป็นฟรีแลนซ์ด้านการทำกราฟฟิก สิ่งที่ต้องแน่ใจคือเป้าหมายจะต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงในกรอบระยะเวลาที่คุณกำหนด การวางแผนด้วยขั้นตอนการลงมือทำที่ชัดเจนจะช่วยให้เราลงมือกระทำเรื่องเล็กๆ แต่ละเรื่องในแต่ละวัน เดินหน้ามุ่งสู่เป้าหมายได้ง่ายขึ้น และอาจจะคอยกลับมาทบทวนดูความก้าวหน้าอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง คุณจะเกิดความรู้สึกดีกับตัวคุณเองมากขึ้นเช่นเดียวกัน
3. ใช้เครื่องมือ Design Thinking ผลักดันการลงมือทำ
การจะก้าวออกจาก comfort zone เหมือนขั้นตอนการสร้าง prototype ในกระบวนการ Design Thinking โดยคุณไม่จำเป็นต้องรอ perfect idea แต่ลงมือทำทันทีแล้วค่อยๆ ปรับหลังจากได้รับข้อมูลป้อนกลับหรือ feedback แล้วนำมาต่อยอดพัฒนาความรู้ทักษะไปเรื่อยๆ เพราะสิ่งที่ยากคือการเริ่มต้น
ตัวอย่างเช่น หากคุณอยากสร้างบล็อกของตัวเองขึ้นมา prototype ของคุณอาจมีดังนี้
· สร้างบล็อกและเริ่มเขียนบทความแรก จากนั้นเผยแพร่ออกไป
· แชร์โพสต์บนโซเชียลมีเดียและถามหา feedback
· เขียนบทความถัดไปในบล็อกของคุณ โดยต่อยอดจาก feedback ที่คุณได้รับ
· ถามหา feedback ให้มากขึ้น
· พัฒนาโพสต์ของคุณอย่างต่อเนื่องจนกว่าคุณจะสร้างบล็อกและเขียนบทความที่ประสบความสำเร็จ
4. เปลี่ยนวิธีคิด (Mindset)
วิธีคิดและวิธีการมองโลกคือสิ่งสำคัญที่กำหนดเส้นทางชีวิตของแต่ละคน เป็นตัวกำหนดเลยว่าชีวิตจะก้าวต่อไปอย่างไร คุณจะเป็นคนแบบไหน ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับระบบความคิด ความเชื่อและวิธีการมองโลกของเราทั้งนั้น
อย่างคนที่ไม่กล้าออกจาก comfort zone อาจเป็นเพราะมีความเชื่อลึกๆ ว่า “ฉันไม่เก่ง” เขาก็จะตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ แบบคนไม่มั่นใจในตัวเอง วิตกกังวลว่าตัวเองไม่เก่งพอจะทำงานที่ท้าทายได้ ทำให้โอกาสในชีวิตก็มีน้อยลง เพราะไม่กล้ารับโอกาสที่ท้าทาย ส่งผลให้ผลลัพธ์ชีวิตออกมาไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม Mindset พัฒนาและปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณพยายามและมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนกรอบความคิดของตัวเองมากแค่ไหน ก่อนที่จะเริ่มลงทุนใช้เวลาไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทันที สิ่งแรกที่คุณควรปรับเปลี่ยนคือ วิธีคิด หรือ MINDSET ของตัวคุณเองเสียก่อน
ทั้งนี้ ในช่วงแรกคุณอาจจะรู้สึกกลัว ดังนั้น คุณสามารถค่อยๆ เริ่มทำในสิ่งที่แตกต่างและไม่คุ้นชิน เริ่มขยายพื้นที่ comfort zone ให้กว้างและท้าทายขึ้นทีละน้อยๆ สิ่งสำคัญคือการเริ่มก้าวไปข้างหน้าแม้เพียงหนึ่งก้าว คุณจะเริ่มรู้สึกดีทุกครั้งที่คุณทำมันได้ และเห็นความก้าวหน้าของตัวคุณทีละเล็ก ทีละน้อย ดังที่ Roy T. Bennett ผู้เขียนหนังสือ The Light in the Heart กล่าวว่า “คุณจะไม่สามารถเปลี่ยนชีวิตได้จนกว่าคุณจะก้าวออกจาก comfort zone การเปลี่ยนแปลงจะเริ่มต้นจากจุดนั้น”
สัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับ YourNextU School of Life ได้ตั้งแต่วันนี้ ที่นี่