HR ในปี 2023 ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทตัวเองได้แล้ว อย่าคิดว่าเป็นแค่ HR ไปวันๆ TOPPIC Time จะพาไปดูว่า…เทรนด์ HR ปีนี้จะเป็นอย่างไร?
ผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ และผู้นำองค์กรมากมาย ต่างคาดหวังว่าปี 2023 นี้ จะเป็นปีแห่งการพลิกโฉมธุรกิจของตัวเอง ทุกคนไม่อาจหลีกหนีการปฏิรูปองค์กรในมิติต่างๆ ได้อีกต่อไป
สิ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องการจาก HR ในปี 2023 สู่ระบบดิจิทัล
งานวิจัยของเมอร์เซอร์ กล่าวว่า บริษัทถึง 98% กำลังพยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญคือมีบริษัทมากถึง 52% ที่เป็น “องค์กรดิจิทัล” แล้ว
ขณะที่ งานวิจัยของเดลล์ ยังชี้ให้เห็นอีกว่า อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุด ที่ขัดขวางไม่ให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ “ระบบดิจิทัล” คือความพร้อมของ “พนักงานองค์กร” ไม่ใช่ “เทคโนโลยี”
ระบบดิจิทัล ขึ้นอยู่ “คน”
จากการอ้างอิงบทความจาก ซีแอค (SEAC) ผู้นำด้านการพัฒนาบุคลากรและองค์กร เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระบุไว้ว่า…
ผู้นำต้องจำไว้ว่า ความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงองค์กรทั้งหลาย ล้วนเป็นความท้าทายด้าน “คน” และปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นเอง ก็เป็นปัญหาด้าน “คน” เช่นกัน ในมุมมองของดิฉัน ทุกๆ อย่างในตอนนี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับ “คน” องค์กรไม่ได้มีปัญหากับระบบดิจิทัล หรือการเปลี่ยนแปลงพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ความท้าทายอยู่ที่การต้องเปลี่ยน “คน” ให้หันมาใช้ระบบ หรือเทคโนโลยีได้ดีและรวดเร็วพอต่างหาก
HR ต้องดิ้นรน ไม่แพ้ตัวธุรกิจ
ในขณะเดียวกัน เทรนด์ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับธุรกิจ อย่างการเปลี่ยนผ่านสู่ “ระบบดิจิทัล” ยุคแห่งข้อมูล การต้องปรับเปลี่ยนตามความต้องการของผู้บริโภค และวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ๆ (จากงานวิจัยของ Porche Consulting) ก็ทำให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลขององค์กร HR ต้องดิ้นรนมากพอๆ กับตัวธุรกิจเอง ดิฉันเชื่อว่า ผู้นำต้องผลักดันฝ่ายทรัพยากรบุคคลของตน และสนับสนุนพวกเขา เพื่อเพิ่มโอกาสสำเร็จของการปฏิรูปองค์กร
พนักงานมากความสามารถ สิ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องการ แต่ HR ยังจัดการไม่ได้
ผลสำรวจด้านการเปลี่ยนผ่านฝ่ายทรัพยากรบุคคลสู่ระบบดิจิทัลของ PWC ในปี 2022 พบว่า 96% ของผู้นำด้าน HR ทั่วโลกมองว่า งานของตนกำลังเปลี่ยน จากการเป็นแค่ผู้ให้บริการ ไปสู่ผู้ผลักดันการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาพนักงานมากความสามารถ จากโอกาสที่ได้พูดคุยกับผู้นำธุรกิจหลายๆ ท่าน นี่แหละคือสิ่งที่พวกเขาต้องการจริงๆ จาก HR ของพวกเขา แต่โชคไม่ดีที่ผู้นำด้านทรัพยากรบุคคลมองว่า ระบบการทำงานในปัจจุบันของหลายๆ องค์กร ไม่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และการเตรียมองค์กรให้พร้อมรับโลกอนาคตเลย (มีแค่ 9% เท่านั้นที่พร้อม) พวกเขาเชื่อว่า บทบาทหน้าที่ของ HR ยังมีจุดที่ต้องปรับปรุง วิธีการที่เราใช้แก้ปัญหา ยังไม่สนับสนุนการทำงานแบบใหม่ๆ ไม่ดึงดูด “พนักงาน” ที่มีคุณภาพ หรือไม่แม้แต่สนับสนุนให้พนักงานมีส่วนร่วม และทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเลย
วิธีคิด + อารมณ์ ของพนักงาน มาจาก HR
ถามว่ามีวิธีแก้หรือไม่ ในยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นตลอดเวลา ดิฉันคิดว่า ผู้นำองค์กรต้องคำนึงถึงความสามารถของ HR ในการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและอารมณ์ของพนักงาน รวมไปถึงวิธีสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานด้วยกันเอง และกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย นี่คือข้อเท็จจริง ไม่ว่าวิธีการที่ใช้จะซับซ้อนเท่าไร หรือบทบาทหน้าที่ของ HR จะมีอะไรบ้าง พวกเขา คือบุคคลหน้าด่าน ที่ติดต่อสื่อสารกับพนักงานโดยตรง และสามารถสร้างเสริมให้เกิดกรอบวิธีคิด ที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่ง HR ต้องเริ่มลงมือทำ 2 สิ่งต่อไปนี้
2 สิ่งที่ HR ควรทำ เพื่อให้พนักงานพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
1. เตรียม “พนักงาน” ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ด้วยการอัพสกิลและปรับเปลี่ยนที่ทำงาน เช่น การสร้างกรอบวิธีคิดดิจิทัล หรือสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ยืดหยุ่น
2. เตรียมโครงสร้างที่เหมาะสม สำหรับอนาคตที่แตกต่าง เช่น พัฒนาผู้นำที่มีกรอบวิธีคิดใหม่ๆ มีพฤติกรรมและวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ
การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ รอ HR ไม่ได้
แล้วความท้าทายของ HR ตอนนี้มีอะไรบ้าง? ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องเปลี่ยนตัวเอง เพื่อเตรียมรับอนาคตการทำงานที่จะแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง โดยงานวิจัยในปี 2022 ของ AIHR แสดงให้เห็นว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทักษะที่จำเป็นที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในบทบาท HR มากถึง 35% เปลี่ยนไป ไม่ใช่ชุดทักษะเดิม แต่การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำธุรกิจรอ HR ไม่ได้
ส่วน HR ก็เป็นหน้าที่ของผู้นำฝ่ายทรัพยากรบุคคล นี่เป็นเรื่องสำคัญ และ HR ต้องเรียนรู้ไปลงมือทำไป เหมือนภาคส่วนอื่นๆ ของธุรกิจ ที่สำคัญกว่านั้น พวกเขาต้องหาวิธีใหม่ เพื่อพัฒนาทักษะด้านการจัดการองค์กร และทำหน้าที่ของตัวเองให้เรียบร้อยไปพร้อมๆ กัน
3 สิ่งที่ HR ยุคปัจจุบันต้องทำ!!
แต่นี่เป็นเรื่องที่ทำได้จริงหรือเปล่า? HR ที่ปรับตัวและหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่ซับซ้อนได้ อาจจะเริ่มที่หาวิธีพัฒนาความสามารถแบบใหม่ๆ ให้กับผู้นำการเปลี่ยนแปลงในองค์กรคุณ ซึ่งผู้นำเองต้องทำให้มั่นใจว่า HR ของพวกเขา จะทำ 3 สิ่งนี้ได้ ได้แก่
1. มอบประสบการณ์ที่เปลี่ยนกรอบวิธีคิดให้กับ “พนักงาน”
กุญแจสำคัญ คือจะทำให้ผู้เรียนมีประสบการณ์อย่างไรกับการมาเทรนและการพัฒนาทักษะ ให้ลืมเวิร์คชอปแบบเดิม ที่ให้คนมานั่งรอเรียนอยู่ในห้องเรียนไปให้หมดได้เลย วิธีการเรียนรู้ของคนเปลี่ยนไปแล้ว พวกเขาไม่อยากอยู่ในห้องเรียน โควิด-19 เปลี่ยนวิธีการเรียนของคน กรอบวิธีคิดของ HR ต้องสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยให้เพื่อนร่วมงานได้เรียนรู้ และเติบโตจริงๆ หลังการพัฒนา
2. พัฒนาประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้ผลลัพธ์ (ของเพื่อนร่วมงาน) ที่ต้องการเป็นศูนย์กลาง
ผู้นำธุรกิจต้องถาม HR เสมอว่า โครงการพัฒนาศักยภาพแต่ละโครงการ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ถ้าจุดนี้ไม่เคลียร์ตั้งแต่ระดับผู้เรียนแต่ละคน อย่าลงทุนกับโครงการนั้น คงจะดีกว่าถ้าคุณเอางบไปพัฒนาส่วนอื่นๆ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายการปฏิรูปของคุณ ถ้าโครงการเหล่านี้ไม่ตอบโจทย์เป้าหมาย เราก็ไม่จำเป็นจะต้องพิจารณามันด้วยซ้ำ ในทุกการลงทุน คุณต้องช่วย HR หาให้เจอว่า ความต้องการจริงๆ คืออะไร ผลลัพธ์ที่อยากได้คืออะไร บริบทการเรียนรู้คืออะไร แล้วค่อยเลือกเนื้อหาที่จะเรียนรู้
3. เปลี่ยนการเรียนรู้ให้เป็นการได้รับผลตอบแทน (ไม่ใช่แค่ลงทุนพัฒนาศักยภาพสำหรับอนาคตที่ไม่ได้ออกแบบไว้อย่างชัดเจน)
จากประสบการณ์ของดิฉันเอง พูดได้เลยว่า ถ้าอยากเปลี่ยนแปลง เราไม่มีเวลาสำหรับการเรียนรู้ แค่เพราะอยากเรียนรู้หรอก ดิฉันรักและให้คุณค่ากับการเรียนรู้ แต่เราไม่มีเวลาสำหรับการเรียนรู้แบบเก่าๆ หรือเรียนสบายๆ ในเวลาว่าง เราไม่มีเวลานั่งสั่งสมกัน
ฉะนั้น วิธีเรียนรู้ที่ดีวิธีหนึ่ง คือ การประยุกต์ Lab (ห้องทดลอง) เข้าไปในการเรียนรู้ที่เนื้อหาไม่มาก แต่มีบริบทจริงที่ชัดเจน ซึ่งหมายความว่า การเรียนรู้ คือการลองนำไปใช้จริงในธุรกิจ (ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการลองทำอะไร ที่ไม่เคยทำมาก่อนไปด้วยในตัว) HR สามารถวางกลยุทธ์การพัฒนาเพื่อให้ตอบเป้าหมายการพลิกโฉมองค์กร โดยช่วยให้ทุกคนชัดเจนกับเป้าหมาย และจัดให้มีการโค้ชเดี่ยวหรือกลุ่ม โดยผู้เชี่ยวชาญภายในเพื่อพัฒนาทักษะอย่างรวดเร็ว และครอบคลุมทั้งองค์กร วิธีการนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่าย และโฟกัสกับความต้องการขององค์กรอย่างแท้จริงอีกด้วย
ทำไม HR ถึงทำงานแค่นั้น?
นอกจากว่า ฝ่ายทรัพยากรบุคคลขององค์กรคุณ จะเป็นแค่ทีมเล็กๆ ที่ทำแค่หน้าที่พื้นฐาน (แต่ทำไมถึงจะทำแค่นั้นในยุคนี้) องค์กรของคุณสามารถใช้ HR เป็นหนึ่งในผู้ผลักดัน ให้การปฏิรูปองค์กรของคุณประสบความสำเร็จในปี 2023 หาวิธีใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิมในการใช้พวกเขา และทำให้มั่นใจว่า พวกเขาหมั่นหาวิธีพัฒนาบุคลากรใหม่ๆ ที่ตอบเป้าหมายขององค์กรและทีมผู้นำอย่างแท้จริง
บทบาทที่เปลี่ยนไปของ HR
ปัญหาส่วนใหญ่ที่เราเจอในปัจจุบัน ล้วนแต่เป็นปัญหาด้าน “คน” ดังนั้น ถ้าอยากปฏิรูปองค์กรได้สำเร็จในปี 2023 ผู้นำธุรกิจต้องรู้จักใช้ HR ให้เกิดประโยชน์สูงสุด HR ถือเป็นด่านหน้า ที่อยู่ใกล้ชิดกับพนักงานมากที่สุด พวกเขามีอิทธิพลกับความคิด และความรู้สึกของพนักงาน ผู้นำต้องทำให้มั่นใจว่า HR ของพวกเขาเข้าใจว่า บทบาทของตัวเองได้เปลี่ยนไปแล้ว พวกเขาต้องก้าวขึ้นมาช่วยสร้างเสริมกรอบวิธีคิดแบบใหม่ๆ ให้กับคนในองค์กร ต้องหาโครงการพัฒนาศักยภาพแบบใหม่ๆ ที่ใช้คนเรียนเป็นศูนย์กลาง และ turn learning into earning หาก HR ของคุณเข้าใจและทำได้เช่นนี้ ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงองค์กร ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม