ม.มหิดล เดินหน้านำ 5 คณะสายสังคมศาสตร์ผลิตบัณฑิตสร้างโลกยั่งยืน ปรากฏการณ์ใหม่ของสถาบันอุดมศึกษา พร้อมชี้พลัง “5Ps” เครื่องยนต์สำคัญสร้างโลก 5.0
วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) จัดงาน Sustainable Symposium: The Societal Impacts ภายใต้แนวคิด Let’s Change Our Society for A Better Future (เปลี่ยนสังคมของเราเพื่ออนาคตที่ดีกว่า) ตอกย้ำสถาบันการศึกษาด้านการจัดการที่มีเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งด้านการวิจัยและนวัตกรรม การศึกษา และการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต พร้อมเปิดปรากฏการณ์ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของมหาวิทยาลัยในการใช้ความโดดเด่น “5 คณะวิชาสายสังคมศาสตร์” สร้างบัณฑิตยุคโลก 5.0
นำโดยทีมอาจารย์และนักศึกษาวิทยาลัยการจัดการ วิทยาลัยศาสนศึกษา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ และสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย พร้อมไฮไลต์พิเศษ! การรายงานข้อมูลความยั่งยืนเชิงลึก ประจำปี 2023 ณ Prince Mahidol Hall มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จ.นครปฐม โดยการสนับสนุนจากกองวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยกำหนดนโยบายและการดำเนินการเพื่อมุ่งหวังให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับการใช้ทรัพยากร และการพัฒนาสังคม ขณะเดียวกันการสร้างความตระหนักรู้ด้านความยั่งยืนต่อนักศึกษาและบุคลากรให้เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมและทำประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างมีคุณภาพในยุค 5.0 ก็เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยด้านการศึกษาด้วย จึงนำสู่การบรรจุแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกๆ หลักสูตรการเรียน ซึ่งความน่าสนใจที่ค้นพบคือ คณะวิชาสายสังคมศาสตร์ มีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาความยั่งยืนในประเทศไทยอย่างมาก ด้วยเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอน ตลอดจนความร่วมมือทางเครือข่ายจากสถาบันชั้นนำและคณาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ต่างให้ความสำคัญต่อการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อความยั่งยืน
คณะวิชาสายสังคมศาสตร์ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกด้านความยั่งยืน ในซีเอ็มเอ็มยู และคณะอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยมหิดล โดดเด่นด้วย 5 คณะวิชา ได้แก่
1. วิทยาลัยการจัดการ มีหลักสูตรในการพัฒนาผู้นำและบริหารธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
2. วิทยาลัยศาสนศึกษา เปิดให้เรียนรู้หลากหลายศาสนารวมทั้งจริยธรรมจากอาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งแก่นแท้ของการเรียนรู้นั้นเพื่อให้รู้และเข้าใจว่าคนมีความหลากหลายและแตกต่างกันด้วยสาเหตุและปัจจัย จึงทำให้ผู้คนเคารพซึ่งกันและกัน และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข
3. คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มีการเรียนรู้เกี่ยวกับเวชระเบียนที่ไม่เหมือนที่อื่น การสร้างรหัสทางการแพทย์ที่หลากหลาย รวมถึงอัปเดตโรคใหม่ๆ ตลอดจนเสริมด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีที่จะเป็นประโยชน์ในอนาคต
4. คณะศิลปศาสตร์ เน้นการเรียนการสอนแบบบูรณาการ และสามารถประยุกต์ใช้ในการทำงานกับหลายอุตสาหกรรมได้จริง ซึ่งจะมีรายวิชาเช่น MUGE (มูเก้) ได้เรียนร่วมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ รวมถึงมีทุนส่งเสริมศักยภาพนักศึกษาที่เปิดให้ผู้เรียนไปทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนต่างประเทศ เช่น เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการทำงานของสหประชาชาติ ฝึกงานตามสถานทูต เป็นต้น
5. สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มีแก่นสำคัญของภาษาและวัฒนธรรมเป็นหัวใจของการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมมีการส่งเสริมงานวิจัยเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กและเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย
จากทั้งหมดนี้จึงถือเป็นกลไกสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของสายสังคมศาสตร์ในสถาบันการศึกษาที่สามารถสร้างบ่มเพาะความรู้และทัศนคติด้านความยั่งยืนสู่ผู้เรียน และส่งต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมครั้งใหญ่ได้อย่างกว้างขวางต่อไปในอนาคต
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การส่งเสริมความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้จริงในระยะยาวนั้น นอกจากสถาบันการศึกษาจะมีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนานักศึกษาและบุคลากรให้เข้าใจด้านความยั่งยืน เพื่อขยายความร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ ในการช่วยแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญทั้งความยากจน ความไม่เท่าเทียม สภาวะโลกร้อน ตลอดจนสันติสุขแล้ว หากต้องการเร่งการส่งเสริมความยั่งยืนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในสังคมไทยได้อย่างรวดเร็ว ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐเป็นสำคัญ
ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาความยั่งยืนต่อไปในอนาคต ด้วยรูปแบบ 5Ps
1. People (ประชาชน) กับการพัฒนาแก้ปัญหายุติความยากจนและความหิวโหยในทุกรูปแบบ พร้อมเสริมความมั่นใจให้มนุษย์ทุกคนสามารถบรรลุศักยภาพของตนเองในด้านศักดิ์ศรี ความเสมอภาคในสภาพแวดล้อมที่ดีตามที่ SDGs ได้ประกาศไว้
2. Prosperity (ความเจริญรุ่งเรือง) ความไม่เท่าเทียมกันเป็นหนึ่งในปัญหาที่ยังขาดการส่งเสริมทั่วถึง ซึ่งต้องส่งเสริมให้ทุกคนสามารถมีชีวิตที่เจริญรุ่งเรืองและสมบูรณ์ ตลอดจนเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี
3. Planet (โลก) ตามที่ SDGs ตั้งเป้าหมายในการปกป้องโลกจากความเสื่อมโทรม รวมถึงการบริโภคและการผลิตให้ยั่งยืน จึงต้องมีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการในปัจจุบันและอนาคตได้
4. Peace (สันติภาพ) การพัฒนาที่ยั่งยืนย่อมทำไม่สำเร็จหากปราศจากสันติภาพ จึงต้องส่งเสริมสังคมให้สงบสุข มีความยุติธรรม และปราศจากความกลัวและความรุนแรง
5. Partnership (การร่วมมือ) ปัญหาที่ข้ามภาคส่วนหรือสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่าง รวมไปถึงศาสตร์ในสาขาที่ต่างกัน เป็นสิ่งที่ต้องการความร่วมมือในการแก้ปัญหาร่วมกัน ตามที่ SDGs เรียกร้องให้มีจิตวิญญาณแห่งความสามัคคีระดับโลกที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยเน้นไปที่ความต้องการของผู้ที่ยากจนที่สุดและผู้เปราะบาง ตลอดจนประชาชนทุกคน