ขยะปัญหาใหญ่ไม่รู้จบ คนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อปัญหา สร้างขยะเฉลี่ย 1 คน 1 กก./วัน พบปี 2565 มีปริมาณขยะทั่วประเทศ 25.70 ล้านตัน เฉพาะ กทม. 12,089 ตัน/วัน แต่ขยะก็สร้างรายได้ให้กับครัวเรือน ในโครงการตลาดนัดรีไซเคิล ของ กทม.เดือนละ 2 ครั้ง พร้อมมีราคาขายกำกับ
เรื่องขยะที่ไม่ใช่ขยะ แต่เป็นอีกแหล่งเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนกรุงเทพฯ TOPPIC Time บอกได้เลยว่า เป็นเรื่องดี ๆ ที่อยากขยายและส่งต่อ นอกจากจะเป็นการช่วยกันรักษาความสะอาด จัดระเบียบความเรียบร้อยแล้ว ยังมีเงินติดไม้ติดมือกลับบ้านไปด้วย ซึ่งเป็นกิจกรรมของ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ภายใต้นโยบายส่งขยะคืนสู่ระบบ “ตลาดนัดรีไซเคิล” ที่กำหนดจัดทุกวันพุธกลางเดือน ที่ศาลาว่าการกทม.เสาชิงช้า และทุกวันพุธสุดท้ายของเดือน ที่ศาลาว่าการกทม.ดินแดง
ล่าสุด ในวันที่ 13 มี.ค.ตั้งแต่เวลา 08.30 – 12.00 น. ณ บริเวณจุดจอดรถชั่วคราว ทางเข้าฝั่งถนนดินสอ ศาลาว่าการ กทม.(เสาชิงช้า) เพื่อส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะ นัดผู้ซื้อมารับซื้อขยะรีไซเคิล เพิ่มช่องทางในการจัดการขยะรีไซเคิลอย่างเหมาะสม
รับซื้อขยะรีไซเคิล : ต่อ 1 กิโลกรัม
– กระดาษขาวดำ 4 บาท
– กระดาษรวมทุกชนิดทุกสี 1 บาท
– กระดาษลัง (ลูกฟูก) 1.5 บาท
– หนังสือพิมพ์ 2 บาท
– พลาสติกใส 8 บาท
– พลาสติกขุ่น 4 บาท
– กระป๋องอะลูมิเนียม 30 บาท
– กระป๋องสังกะสี 2 บาท
– เศษเหล็ก 7 บาท
– ขวดแก้ว 0.5 บาท
– แผ่นซีดี 15 บาท (ราคาอาจปรับเปลี่ยนตามราคาตลาด)
กทม.เร่งจัดการขยะตั้งแต่ต้น-ปลายทาง
ภายใต้นโยบายส่งขยะคืนสู่ระบบ เน้นการสนับสนุนเพิ่มช่องทางและสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้เกิดการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง
1.ส่งเสริมธนาคารขยะชุมชน สถานศึกษา ตลาดนัดขยะรีไซเคิล สร้างต้นแบบธนาคารขยะ รวมถึงโครงการความร่วมมือในการดูแลผู้ประกอบการรับซื้อของเก่าหรือซาเล้งในเมือง
2.ส่งเสริมจุด Drop-off นัดรับขยะรีไซเคิลและขยะกำพร้า ครอบคลุมทั้ง 50 เขต โดยร่วมมือกับสถานีบริการน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ตลาด และซูเปอร์มาร์เก็ต
3.สนับสนุนตู้รับคืนผลิตภัณฑ์รีไซเคิล จุดรับซื้อหรือสะสมแต้ม สามารถเปลี่ยนเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า หรือค่าบริการในภาคเอกชนที่ร่วมโครงการได้
ขยะยังล้น 1 คนสร้างขยะ 1 กก./วัน
สถานการณ์ขยะทั่วประเทศในปี 2565 ปริมาณขยะมูลฝอย มีประมาณ 25.70 ล้านตัน ในพื้นที่ กทม.ประมาณ 12,089 ตัน/วัน สำหรับในพื้นที่ กทม.ปี 2566 จัดเก็บขยะเฉลี่ย 8,775.12 ตัน/วัน โดยไม่มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง จำนวนประชากรมากขึ้น จำนวนขยะก็มากตาม จากข้อมูลพบว่า ประชากร 1 คน สร้างขยะเฉลี่ยวันละ 1 กิโลกรัม สำหรับการใช้งบประมาณจัดการขยะ ว่า ที่ผ่านมาจากการดำเนินโครงการไม่เทรวมและการส่งเสริมการคัดแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล ทำให้ขยะในกทม.มีแนวโน้มลดลง ในปี 2567 กทม.ให้งบประมาณสำนักสิ่งแวดล้อมถึง 7,579 ล้านบาท 1 ใน 3 ของสำนักที่ใช้งบประมาณสูงสุด
ขณะที่ มีปริมาณมูลฝอยที่คัดแยกนำกลับมาใช้ประโยชน์ที่แหล่งกำเนิดรวมประมาณวันละ 1,557.15 ตัน แบ่งเป็น ปริมาณมูลฝอยรีไซเคิลวันละ 1,169.17 ตัน ปริมาณมูลฝอยอินทรีย์วันละ 407.98 ตัน โครงการปฏิทินเก่าเราขอ รวมน้ำหนัก 17,954.8 กิโลกรัม โครงการทรัพย์ทวีรีไซเคิล รวมน้ำหนัก 5,435.10 กิโลกรัม