องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ควง มารีญา จัดเสวนาหาทางแก้วิกฤต “ควันพิษ” จากข้าวโพดอาหารสัตว์ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก…
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก และ มารีญา พูลเลิศลาภ ทูตองค์กรฯ ผนึกกำลังเครือข่าย มูลนิธิชีววิถี (BioThai Foundation) และ สภาลมหายใจเชียงใหม่ จัดงานเสวนาเพื่อสร้างความตระหนักและหาทางแก้วิกฤต “ควันพิษ” จากข้าวโพดอาหารสัตว์ ร่วมกัน เนื่องในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก พร้อมทั้งฉายภาพยนตร์ และจัดนิทรรศการ ผลกระทบต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมจากธุรกิจอาหารสัตว์ พร้อมเผยข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่น่าตกใจ ซึ่งเป็นต้นตอของหมอกควันพิษ PM 2.5 ที่เป็นปัญหาเรื้อรังระดับประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
วิกฤต “ควันพิษ” ข้าวโพดอาหารสัตว์ สาเหตุสำคัญของมลพิษทางอากาศ
ประเทศไทย มีการใช้พื้นที่กว่า 7 ล้านไร่ เพื่อปลูกข้าวโพด โดยร้อยละ 95 เป็นข้าวโพดเพื่อทำอาหารสัตว์ พื้นที่ปลูกข้าวโพดส่วนใหญ่อยู่บริเวณเชิงเขาและลาดชัน ดังนั้นการเผาจึงเป็นวิธีการที่ถูกนำมาใช้เพื่อกำจัดเศษวัชพืชหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของมลพิษทางอากาศ “ควันพิษ” หรือ ฝุ่น PM 2.5 ที่สร้างผลกระทบต่อคนไทยอย่างรุนแรงและหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนั้นการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ยังพบว่ามีการปลูกในพื้นที่ป่า ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การทำลายพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รวมถึงการเร่งให้เกิดภาวะโลกรวน
“เราได้ย้ำเสมอว่าอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ฝุ่น PM 2.5 เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่ทำให้เราเห็นแล้วว่า อุตสาหกรรมนี้สร้างผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของเราอย่างไร เราได้ทำงานสืบสวนในระดับพื้นที่ ซึ่งพบว่ายังมีช่องว่างของนโยบายในการตรวจสอบแหล่งที่มาของข้าวโพด ที่ยังมีการปลูกในพื้นที่ป่า และเกี่ยวข้องกับการเผา ตลอดจนการใช้สารเคมีอันตรายในขั้นตอนการปลูก ที่ส่งผลต่อสุขภาพของเกษตรกรและชุมชนแวดล้อม รวมถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นพื้นที่สำหรับสัตว์ป่าหลายชนิด” โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าว
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวเสริมว่า “ถ้าเราลงไปค้นดูถึงเบื้องหลังของปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 นี้ ก็จะพบว่าเกิดจากความต้องการอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย และความทะเยอทะยานของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เพื่อไปป้อนโลก ทำให้เกิดการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดในประเทศไทย และอนุภูมิภาคกลุ่มแม่น้ำโขง พื้นที่ปลูกข้าวโพดในไทยขยายตัวเต็มที่อยู่คงที่ประมาณ 7 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันพื้นที่ปลูกข้าวโพดในเมียนมาขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเขตรัฐฉานที่ติดกับชายแดนไทย ซึ่งเป็นแหล่งขนส่งข้าวโพดมายังประเทศไทย ดังนั้นฉากจบของเรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนเขียนบท ถ้าเราเป็นเพียงผู้ดู เราก็จะรอว่า พ.ร.บ. อากาศสะอาดจะประกาศใช้ไหม และจะรวมประเด็นเรื่องการจัดการบริษัทอาหารสัตว์ การเผาข้ามพรมแดนหรือไม่ ซึ่งที่จริงแล้วพวกเราล้วนเป็นคนเขียนบท และเล่นด้วยในภาพยนตร์นี้”
“มลพิษฝุ่นควันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มีความซับซ้อน ภายใต้สังคมเหลื่อมล้ำและมีผลประโยชน์ทับซ้อน พรบ.อากาศสะอาดต้องแก้ปัญหาได้จริง ไม่เป็นแค่เสือกระดาษ” ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่
ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 58 ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ การประกาศนโยบายของรัฐบาลล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่หนุนไทยเป็นผู้นำโลกในการผลิตและส่งออกอาหารสัตว์เพื่อรองรับตลาดโลก เพิ่มมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท ก็สอดคล้องกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ฟาร์มที่กำลังเติบโตขึ้น ทั้งนี้ในแต่ละปี มีสัตว์ฟาร์มทั่วโลกกว่า 80,000 ล้านตัว (ไม่นับรวมสัตว์น้ำ เช่น ปลา หรือ กุ้ง) และ 2 ใน 3 ของสัตว์ฟาร์มเหล่านี้ อยู่ในระบบฟาร์มอุตสาหกรรม เราต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดมากมายมหาศาลขนาดไหน จึงจะเพียงพอต่อการป้อนสู่ระบบฟาร์มอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสัตว์ที่มีชีวิตทุกข์ทรมาน มีสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ แออัดอยู่ในฟาร์ม การใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมหาศาล ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดล้วนเชื่อมต่อกันเป็นลูกโซ่
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เรียกร้องให้ภาครัฐต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น ในการกำกับดูแล ตรวจสอบ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารสัตว์ของภาคเอกชน ตลอดจนมีนโยบายในการส่งเสริมระบบอาหารที่เป็นธรรมและเป็นมิตรต่อคน สัตว์ สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อีกทั้งเร่งให้บริษัทผลิตอาหารสัตว์มีนโยบายการจัดซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่ไม่ได้มาจากการรุกล้ำพื้นที่ป่า ปลอดการเผา เพื่อลดปัญหา “ควันพิษ” PM 2.5 และต้องมีการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส
นอกจากนี้ ถึงเวลาแล้วที่ผู้บริโภคจะลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง หันมาบริโภคโปรตีนทางเลือกเพิ่มมากขึ้น (โดยเฉพาะจากพืช) และเลือกบริโภคเนื้อสัตว์จากแหล่งที่มาที่ดีและที่ตรวจสอบได้ โดย เลือกซื้อเนื้อสัตว์จากฟาร์มรายย่อยที่มีความยั่งยืน ที่ส่งเสริมสวัสดิภาพของสัตว์ สิ่งนี้จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ และทางองค์กรฯ ขอชวนประชาชนให้ร่วมติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องได้ที่ Facebook: องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกและร่วมส่งเสียงเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมได้ที่นี่