เอลนีโญ ลานีญา คืออะไร? เป็นคำที่มาจากภาษาอะไร แล้วมีความหมายอย่างไร? ทำไมถึงเอาไว้เรียกการเปลี่ยนแปลงของโลกนี้ได้ TOPPIC Time ก็เลยไปหาข้อมูลถึงที่มาที่ไป แต่คุณๆ เชื่อมั้ย? เรื่องราวของ เอลนีโญ ลานีญา มันดูน่าศึกษาและเรียนรู้มากๆ เพราะ 2 คำนี้ มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับทุกๆ คนบนโลกนี้จริงๆ ไปค่ะ…ไปรู้จักเจ้า เอลนีโญ ลานีญา กัน!!
เอลนีโญ ลานีญา เริ่มต้นที่…ชาวประมงเปรู
ต้องบอกแบบนี้ก่อนว่า…ที่บริเวณชายฝั่งประเทศเปรูเมื่อหลายร้อยปีก่อน ชาวประมงได้สังเกตเห็นว่าปลาแถบชายฝั่งมีปริมาณลดน้อยลง ทำให้พวกเขาจับปลาไม่ได้เหมือนเดิม ทั้งที่ปกติบริเวณนี้มีปลาชุกชุม ขณะเดียวกันพื้นที่แถบแห้งแล้ง ก็กลับมีฝนตกขึ้นมา
จากการสังเกตของชาวประมงครั้งนั้น ยังพบอีกว่า มักจะมี “กระแสน้ำอุ่น” ไหลเข้ามาแถบชายฝั่งเปรู ทำให้ปลาที่เคยชุกชุมหายไป ในช่วงปลายเดือนธันวาคม ใกล้ๆ กับเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งตรงกับช่วงเวลาแห่งการฉลองวันเกิดของพระเยซู ก็เลยตั้งชื่อปรากฏการณ์ที่ค้นพบว่า “เอลนีโญ” (El Niño) ที่มาจากภาษาสเปน หมายถึง “เด็กชาย” หรือ “บุตรของพระเจ้า”
นอกจากนี้ยังสังเกตได้อีกว่า “เอลนีโญ” ไม่ได้เกิดขึ้นในทุกๆ ปี แต่จะเกิดทุก 2 – 3 ปี ซึ่งเวลาก็ไม่แน่นอน แต่ละครั้งประมาณ 3 เดือน หรือบางครั้ง ก็อาจกินเวลาไปถึงปีครึ่งเลยทีเดียว
และจากเหตุการณ์ “เอลนีโญ” ชาวประมงเปรูยังได้สังเกตพบว่า ยังมีอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจาก “เอลนีโญ” และเป็นปรากฏการณ์ที่ตรงกันข้าม นั่นคือ แถบชายฝั่งเปรูมีปลาเยอะกว่าปกติ แต่ความแห้งแล้งก็รุนแรงขึ้น จึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ลานีญา” (La Niña) ซึ่งเป็นภาษาสเปนเหมือนกัน หมายถึง “เด็กหญิง” นั่นเอง
ธรรมชาติของน้ำ ธรรมชาติของลม
ก่อนจะไปรู้จัก “เอลนีโญ” และ “ลานีญา” มาทำความรู้จักธรรมชาติของ “น้ำ” และ “ลม” กันก่อน เพราะทั้ง 2 สิ่งมีความสัมพันธ์กันมากๆ โดยธรรมชาติของน้ำและลม ทั้งสองมีโมเลกุลเป็นองค์ประกอบ อะไรก็ตามที่เย็นลง โมเลกุลจะหดตัวและอัดกันแน่น ส่งผลให้มีความหนาแน่น ในทางกลับกัน…อะไรที่ร้อนขึ้น โมเลกุลจะขยายใหญ่ ทำให้มีจำนวนโมเลกุลน้อยลงในพื้นที่เท่ากัน แต่ยังคงมีน้ำหนักเท่าเดิม นั่นคือ สิ่งที่ร้อนจะมีจำนวนโมเลกุลน้อยกว่าและเบากว่า
ดังนั้น “อากาศเย็น” จะมีความหนาแน่นมากกว่า “อากาศร้อน” และโมเลกุลของอากาศเย็น จะเคลื่อนที่ไปยังบริเวณที่มีอากาศร้อนกว่า ในขณะเดียวกัน “อากาศร้อน” ที่มีความเบา…จะลอยตัวขึ้นสูง เมื่อลอยตัวขึ้น “อากาศเย็น” ก็จะเข้ามาแทนที่ และรู้หรือไม่ “อากาศร้อน” ที่ลอยขึ้นสูง จะเย็นลงเมื่อสัมผัสกับ “อากาศเย็น” นั่นเอง จากนั้นจะไหลกลับไปยังบริเวณที่เย็น และหมุนวนไปแบบนี้ซ้ำๆ จนทำให้เกิด “ลม”
ขณะที่ “น้ำ” ก็มีการหมุนวนเหมือนกัน “น้ำร้อน” ที่โดนแดดจะลอยอยู่ด้านบน ส่วน “น้ำเย็น” จะอยู่ด้านล่างและหมุนวน “น้ำร้อน” จะค่อยๆ ไหลลงสู่ด้านล่าง ส่วน “น้ำเย็น” ก็จะค่อยๆ ไหลขึ้นมาด้านบน วนเป็นวงกลม ทำให้ทั้ง “ลม” และ “น้ำ” หมุนวนไปพร้อมๆ กันนั่นเอง
ในอดีตเราใช้ “ลม” ในการติดต่อการค้า ค้าขายกันระหว่างประเทศ “ลม” เหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกับ “เอลนีโญ ลานีญา” จึงถูกเรียกว่า “ลมค้า” (Trade Winds) ซึ่งในสภาวะปกติ “ลมค้า” จะพัดเอาผิวน้ำอุ่นจากมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันออกแถบทวีปอเมริกาใต้ ไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตก ก็คือแถบทวีปเอเชียและออสเตรเลีย หรือทางฝั่งประเทศไทยบ้านเรา ที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
ซีกโลกใต้ ก่อเกิด เอลนีโญ ลานีญา
ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” และ “ลานีญา” หรือที่นักวิทยาศาสตร์เรียกรวมกันว่า “เอนโซ” (ENSO) ก็ย่อมาจาก El Niño–Southern Oscillation ซึ่งหมายถึง ปรากฏการณ์อากาศผันแปรที่ซีกโลกใต้ ซึ่งต่อมานักวิทยาศาสตร์ก็ได้ทำการศึกษา จนสามารถคาดการณ์ได้ว่า จะเกิด 2 ปรากฏการณ์นี้เมื่อไร โดยมีซีกโลกใต้ คือ กุญแจสำคัญ
เมื่อไหร่จะเกิด เอลนีโญ ลานีญา?
สงสัยใช่มั้ย? นักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีอะไรคาดการณ์ว่าจะเกิด “เอลนีโญ” และ “ลานีญา” นักวิทยาศาสตร์จะวัดความต่างของ “ความกดอากาศ” ที่ระดับน้ำทะเล 2 จุด คือ เกาะตาฮิติ ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ และเมืองดาร์วิน ในประเทศออสเตรเลีย โดยนำค่าความกดอากาศของเกาะตาฮิติ มาลบกับค่าความกดอากาศของเมืองดาร์วิน เพราะค่าของเกาะตาฮิติสูงกว่า
หากค่าความต่างน้อย “ลมค้า” ก็จะพัดเบาลง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” แต่ถ้าค่าความต่างมาก “ลมค้า” ก็จะพัดแรงขึ้น จนเกิดปรากฏการณ์ “ลานีญา” ซึ่งวิธีนี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิด “เอลนีโญ” หรือ “ลานีญา” เมื่อไหร่
“เอลนีโญ ลานีญา” ตามคำอธิบายจากนักวิทยาศาสตร์
อธิบายให้เห็นภาพชัดๆ แบบไหนเรียกว่า “เอลนีโญ” แบบไหนเรียก “ลานีญา” เริ่มที่ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” กันก่อน
“ลมค้า” พัดเบาลง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” โดยปกติแล้ว “ลมค้า” จะพัดพา “มวลอากาศเย็น” จากละตินอเมริกา มาสู่ทางประเทศไทยบ้านเรา อุณหภูมิจะไล่จากเย็น ไปจนถึงร้อนสุด แต่เมื่อเกิด “เอลนีโญ” ก็จะทำให้ “ลมค้า” อ่อนกำลัง หรือพัดเบาลง แทนที่จะพัดเอาเมฆและความชื้นมาบ้านเรา ก็มาไม่ถึง เมฆและความชื้นนั้นยังอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ฝนก็เลยไปตกในฝั่งละตินอเมริกา ทำให้ละติอเมริกาเกิดฝนตกหนักผิดปกติ จนเป็นเหตุให้น้ำท่วม และพืชผลทางการเกษตรเสียหาย
ในขณะที่บ้านเราเมื่อ “ลมค้า” พัดมาไม่ถึง อากาศเกิดความแห้งแล้ง ฝนก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ภาคเกษตรขาดน้ำ มีน้ำไม่เพียงพอ พืชผลก็ไม่ออกตามฤดูกาล จนวิกฤตและกลายเป็นภัยแล้ง นี่แหละคือปรากฏการณ์ “เอลนีโญ”
ปรากฏการณ์ตรงข้ามที่เรียกว่า “ลานีญา”
ถ้า “เอลนีโญ” คือการที่ “ลมค้า” พัดเบาลง “ลานีญา” ก็จะเกิดตรงกันข้าม นั่นก็คือ “ลมค้า” พัดมาแรงเกินไป เมื่อพัดมาแรง ก็หอบเอาความชื้น เอาเมฆฝนมาที่บ้านเรามากขึ้น ผลก็คือ ฝนเทกระหน่ำ ตกมากกว่าปกติ จนทำให้เกิด “น้ำท่วม” ในขณะที่ฝั่งละตินอเมริกา โดนลมพัดความชื้นไปหมด ก็เลยทำให้ “แห้งแล้ง” จนอาจทำให้เกิดภัยแล้งตามมา และลามไปถึงไฟป่า นี่แหละคือปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ลานีญา”
ปี 2567 กลายเป็นปีที่โลกร้อนที่สุด!! เท่าที่เคยมีมา!!
เล่ามาถึงตรงนี้ หลายๆ คนคงพอจะเห็นภาพกันมากขึ้น ว่าผลกระทบจาก 2 ปรากฎการณ์นี้ มันรุนแรงชนิดที่ว่าเราคาดไม่ถึงกันเลยทีเดียว
แต่…ที่น่ากลัวไปกว่านั้น จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา สภาวะ “เอลนีโญ” จะอยู่ต่อเนื่องจนถึงช่วงกลางปี 2567 และกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น และคาดการณ์ว่า “เอลนีโญ” อาจทำให้ปีนี้ ปี 2567 กลายเป็นปีที่โลกร้อนที่สุด!!…เท่าที่เคยมีมา!! ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยเผชิญทั้งความร้อนและภัยแล้งจัด ซึ่งไม่ได้กระทบแค่สภาพอากาศหรือแค่การใช้ชีวิตเท่านั้น แต่มันกระทบไปถึงเศรษฐกิจด้วย
“เอลนีโญ” ทำผักแพง เศรษฐกิจฝืดเคือง ปัญหาสุขภาพ…ก็ตามมา
ยกตัวอย่างง่ายๆ ทำไมผักแพง นั่นก็เพราะเราได้รับผลกระทบจาก “เอลนีโญ” เนื่องจากสภาพภูมิอากาศแห้งแล้ง น้ำมีปริมาณน้อย จนทำให้ขาดแคลน สุดท้ายพืชผลทางการเกษตรเสียหาย เพาะปลูกไม่ได้ พืชผักก็ขึ้นราคา และมีราคาแพงนั่นเอง
ทีนี้ก็เป็นลูกโซ่เลย เมื่อผักแพง ค่าครองชีพก็สูงขึ้นไปอีก เรียกว่าเดือดร้อนกันเป็นพรวน เท่านั้นยังไม่พอ เมื่ออากาศแห้งแล้ง ก็จะทำให้เกิดไฟป่าในหลายประเทศ และสุดท้ายเกิด PM 2.5 ซึ่งยังไม่นับรวมกับปัญหาเรื่องสุขภาพอื่นๆ ที่จะตามมาให้รักษาโรคกันอีกเพียบ
เอลนีโญ ลานีญา ฝีมือต้าวมนุษย์ล้วนๆ
ถ้ามาคิดๆ ดูแล้ว มันเกิดจากอะไรล่ะ? เกิดจากฝีมือมนุษย์ที่มาอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ ที่ใช้ทรัพยากรมากเกินจำเป็นหรือเปล่า? การเผาขยะ การเผาไร่อ้อย ควันที่เกิดจากการทำอุตสาหกรรม ฝุ่นจากการก่อสร้าง ควันจากรถยนต์ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้โลกเราร้อนขึ้น แล้วอากาศที่ร้อนขึ้น ก็ย่อมส่งผลให้ “เอลนินโญ่” ทวีความรุนแรงขึ้นมั้ย? ก็ต้องฝากให้ไปช่วยคิดกันดู
เริ่มมันเสียแต่วันนี้!! แค่ลองลุกไป “ปิดไฟ” กันสักดวง หรือ “ห่มผ้า” ให้บางลงหน่อยดีไหม? จะได้ไม่ต้องเปิดแอร์ให้มันฉ่ำจนเกินไป แค่นี้คุณก็เป็นส่วนหนึ่งในการ Safe World โลกน้อยๆ ใบนี้ของเรา จะได้คงอยู่ไปอีกนานๆ เผื่อชาติหน้ากลับมาเกิด อาจจะต้องไปเกิดอยู่ดาวอังคารโน้น ทีนี้งงเลย!!