สิ้น ‘สรพงศ์ ชาตรี’ ด้วยโรคมะเร็งปอดในวัย 71 ปี คนแห่อาลัย นักแสดงมากความสามารถ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ในปี พ.ศ. 2551…
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 มีรายงานว่า “สรพงศ์ ชาตรี” ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จากโรคมะเร็งปอด ที่รักษาตัวมานานอยู่หลายปี โดยอาการของนักแสดงมากฝีมือ ค่อยๆ ทรุดลง ก่อนจะจากไปในวันนี้ ในวัย 71 ปี
เปิดประวัติ ‘สรพงศ์ ชาตรี’
1. ‘สรพงศ์ ชาตรี’ มีชื่อว่า “กรีพงษ์ เทียมเศวต” หรือชื่อเดิม “พิทยา เทียมเศวต” ชื่อเล่น “เอก” และมีชื่อในการการแสดงคือ “สรพงศ์ ชาตรี”
2. นักแสดงชายที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ในช่วงปลายยุค 70 ถึงกลางยุค 80 เเละยังคงทำงานในอาชีพการเเสดงมาจนถึงปัจจุบัน
3. จากผลงานต่างๆ มากมาย “สรพงศ์ ชาตรี” ได้รับคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ในปี พ.ศ. 2551
4. “สรพงษ์ ชาตรี” เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2493 ที่อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายชื้น กับนางพริ้ว เทียมเศวต
5. พระเอกตลอดกาล จบการศึกษาชั้น ป.4 แล้วบวชเรียนตั้งแต่อายุ 8 ปี ที่วัดเทพสุวรรณ อยุธยา และวัดดาวดึงส์ บางยี่ขัน ธนบุรี จนกระทั่งลาสิกขาบทเมื่อ พ.ศ. 2512
6. ในปี พ.ศ. 2552 ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ศิลปศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
7. ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานมูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เมตตาบารมี อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (จากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านศิลปะร่วมสมัย) สาขาศิลปะการแสดงในคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย
8. “สรพงษ์ ชาตรี” มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกเป็นตัวประกอบ ในภาพยนตร์เรื่อง “สอยดาว สาวเดือน” เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยรับบทเป็นลูกน้องนักเลง ที่ออกมาฉากเดียว และไม่มีบทพูด และถูกยิงตาย และภาพยนตร์เรื่องที่ 2 คือเรื่อง ต้อยติ่ง ในปีเดียวกัน สรพงษ์ยังคงรับบทเป็นตัวประกอบ ที่ออกมาฉากเดียวในช่วงท้ายเรื่อง และไม่มีบทพูดเช่นเคย ส่วนภาพยนตร์เรื่องที่ 3 คือเรื่อง ฟ้าคะนอง เมื่อ พ.ศ. 2513 สรพงษ์ยังคงรับบทเป็นตัวประกอบ ที่ออกมาฉากเดียว แต่เริ่มมีบทพูด โดยรับบทเป็นผู้โดยสารรถสองแถวคันเดียวกับนางเอกคือ “ภาวนา ชนะจิต”
9. กระทั่ง “สรพงษ์” ได้รับบทพระเอกเต็มตัวครั้งแรก ในภาพยนตร์เรื่องที่ 4 คือเรื่อง มันมากับความมืด พ.ศ. 2514 ผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม จากนั้นได้รับบทในภาพยนตร์ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม แทบทุกเรื่อง ทั้งบทพระเอก พระรอง และเป็นผู้ช่วยผู้กำกับในบางครั้ง มีผลงานแสดงกว่า 500 เรื่อง ได้รางวัล”ตุ๊กตาทอง” ครั้งแรกจากเรื่อง ชีวิตบัดซบ และ สัตว์มนุษย์ สองปีติดต่อกัน และมีชื่อเสียงในต่างประเทศจากเรื่อง แผลเก่า ในปี พ.ศ. 2520) กำกับโดยเซิด ทรงศรี นับว่าประสบความสำเร็จสูงสุด
10. “สรพงษ์” ได้รับรางวัลทางการแสดงจากหลายสถาบัน เช่น รางวัลตุ๊กตาทองพระสุรัสวดี ดารานำชายยอดเยี่ยม จากเรื่อง ชีวิตบัดซบ และ สัตว์มนุษย์ มือปืน มือปืน 2 สาละวิน เสียดาย 2 รางวัลสุพรรณหงส์ ดารานำชายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง ถ้าเธอยังมีรัก มือปืน และนักแสดงประกอบชายจากเรื่อง องค์บาก 2 ส่วนรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง นักแสดงชายยอดเยี่ยม จากเรื่อง มือปืน 2 สาละวิน
TOPPIC Time ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง และร่วมอาลัยกับการจากไปของ “สรพงษ์ ชาตรี” ชื่อที่เป็นตำนานของนักแสดงมากความสามารถของไทย.